เจ้าหน้าที่ทลายแหล่งผลิตและขายซอฟต์แวร์ปลอมละเมิดลิขสิทธิ์

ข่าวทั่วไป Wednesday December 22, 2010 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ไมโครซอฟท์เตือนผู้บริโภคและภาคธุรกิจให้ เลือกซื้อซอฟต์แวร์จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพบซอฟต์แวร์ปลอมจากประเทศจีนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายซอฟต์แวร์จริงมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าดำเนินคดีปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ปลอมที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ จนไปถึงผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ปลอมจำนวนมหาศาลให้แก่ร้านค้าไอทีทั่วประเทศ การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ที่มีการดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจซึ่งได้ประกาศไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พันตำรวจโท เทียนชัย เลิศมณีทวีทรัพย์ กองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กล่าวว่า “เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มคนและกลุ่มบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงหลอกลวงประชาชนด้วยการผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ปลอม โดยที่ปัญหาซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมาก และมีผลต่อการสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วย การปราบปรามอย่างแข็งขันในครั้งนี้ เป็นการประกาศให้ทุกคนรับทราบว่ารัฐบาลกำลังเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเขตปลอดการละเมิดลิขสิทธิ์” ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินคดีจับกุมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ได้แก่ ร้านจำหน่ายซีดีที่มีสาขาอยู่ในไอทีมอลล์ทั่วประเทศ โดยได้ตรวจพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ร้านดังกล่าวยังได้ทำการผลิต CD-R และ DVD-Rs ด้วยเครื่องจักรสำหรับการค้า ทั้งยังใช้การพิมแบบซิลค์สกรีนและบรรจุภัณฑ์ที่มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์วินโดวส์ลิขสิทธิ์ ในช่วงต้นของการปราบปราม เจ้าหน้าที่พบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์กว่า 300 แผ่น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 2 ล้านบาท ที่ร้านอินเทอร์เน็ตในย่านลาดพร้าว โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้ถูกนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคที่เข้าใจผิดคิดว่าตนซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ขณะนี้ เจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตดังกล่าวถูกจับกุมและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ต่อมา เจ้าหน้าที่พบแผ่นดิสก์ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 150 แผ่น ในสถานประกอบธุรกิจ และพบแผ่นดิสก์อีกกว่า 2,000 แผ่นในแหล่งเก็บสินค้า รวมทั้งอีกกว่า 700 แผ่น ในการเข้าปราบปรามครั้งสุดท้าย ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ Windows Server?, Windows? XP Professional, Windows? 7 และ Microsoft? Office 2010 รวมมูลค่าเป็นสิบๆล้านบาท จำนวนทั้งหมดของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบสามารถบ่งชี้ได้ถึงฐานการผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบอุปกรณ์การเขียนแผ่นซีดี ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า นอกเหนือไปจากการลักลอบนำเข้าแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์จากประเทศจีนแล้ว ในประเทศไทยเองยังมีฐานการผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่อีกด้วยเช่นเดียวกัน การผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมหาศาลเช่นนี้นับได้ว่าเป็นการประกอบอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งรายงานจากรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมชี้ชัดว่าเป็นแหล่งเงินให้กับเครือข่ายอาชญากรทั่วโลก โดยที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อจากการสนับสนุนอาชญากรเหล่านั้นด้วยการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การปราบปรามครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งนักไม่ได้เกิดจากจำนวนของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคการปลอมแปลงที่ทำได้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์มากยิ่งขึ้นกว่าที่ไม่เคยมีมาในอดีต ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบรวมไปถึงซอฟต์แวร์ปลอมจากประเทศจีนที่มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายคลึงกับของจริงมากจนไม่สามารถแยกออกได้ ไบรอัน วิลเลี่ยมส์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกสืบสวนต่อต้านการละเมิดลิขสิทธ์และการปลอมแปลง กลุ่มนิติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “ซอฟต์แวร์ปลอมไม่ใช่ปัญหาใหม่ และไมโครซอฟท์ก็ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ และการปกป้องผู้บริโภคจากการถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ปลอม เราให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย และเมื่อมีซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เราถือว่าเป็นความรับผิดชอบของไมโครซอฟท์ที่จะต้องเตือนและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้” “ที่สำคัญ ซอฟต์แวร์ปลอมจากประเทศจีนที่พบในครั้งนี้มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายคลึงกับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากทีเดียว ทำให้ยากแก่การสังเกต โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในรูปแบบของดิสก์ และมีกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ทั้งยังมีฉลากผลิตภัณฑ์ของแท้ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าใจผิดได้ และยังจัดจำหน่ายในราคาที่ใกล้เคียงกับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ดังนั้น ผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจึงต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการเลือกซื้อซอฟต์แวร์ และต้องมั่นใจว่าได้ซื้อซอฟต์แวร์มาจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการรับรองและเชื่อถือได้” ไบรอัน วิลเลี่ยมส์ กล่าวเสริม การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังคงต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง การเข้าปราบปรามเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาล กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของธุรกิจและเศรฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ก็ได้พยายามที่จะปกป้องผู้บริโภคในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการตรวจสอบในกรณีที่ผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าได้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น นักธุรกิจชาวไทยคนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์หลังจากที่เขาซื้อซอฟต์แวร์ที่เขาคิดว่าเป็นของลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์ประมูลขทางออนไลน์แห่งหนึ่ง “ผมเป็นนักธุรกิจที่ทำงานด้วยความสุจริต โดยจำหน่ายคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ผมได้ซื้อซอฟต์แวร์มาและคิดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ แต่กลับพบว่าซอฟต์แวร์ที่ผมซื้อมานั้นเป็นของปลอม ผมต้องคืนเงินให้กับลูกค้าและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ผมขอบคุณไมโครซอฟท์เป็นอย่างยิ่งที่ให้ความช่วยเหลือ และช่วยผมในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ปลอมดังกล่าวจนเขาได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำผิดและได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ผมรู้สึกเสียใจกับผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่ตกเป็นเหยื่อในการซื้อซอฟต์แวร์ปลอมเช่นเดียวกับผม” คำแนะนำจากไมโครซอฟท์ในการปกป้องตนเอง คือการเลือกซื้อซอฟต์แวร์จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น และเรียนรู้การแยกแยะซอฟต์แวร์ปลอมออกจากซอฟต์แวร์แท้โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้ที่ www.microsoft.com/thailand/genuine/howtotell.aspx ทั้งยังควรอัพเดทซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรม Microsoft Security Essentials ได้ฟรีที่ www.microsoft.com/security_essentials (มีให้เลือกเป็นภาษาไทย) ผู้บริโภคที่สงสัยว่าตนถูกหลอกลวงให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถแจ้งเรื่องดังกล่าวมายัง Microsoft Customer Contact Center ที่ 02 263 6888 หรือ ที่ www.microsoft.com/thailand/genuine สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: คุณศุภาดา ชัยวงษ์ ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 209 โทรสาร: 0-2627-3510 Email:sjaidee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ