ก.ล.ต. แถลงผลการดำเนินงานปี 2553 ประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ สอดรับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ก.ล.ต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ในปี 2553 ซึ่งเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ ปี 2553 — 2555 โดยแผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้คำนึงถึงความท้าทายจากการที่ตลาดทุนทั่วโลกมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเชื่อมโยงกัน ทำให้ตลาดทุนไทยมีความเสี่ยงที่จะหมดความสำคัญ ในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลก ในขณะเดียวกันระดับความพร้อมของผู้ลงทุนไทยและระบบกฎหมายไทยก็ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข ประกอบกับวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาทำให้เห็นบทเรียนของการกำกับดูแลในต่างประเทศที่ไม่รัดกุม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสอดรับกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2553 — 2557 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ในปี 2553 ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินงาน โดยเน้นนโยบาย 5 ด้าน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ 1. ลดการผูกขาดและสนับสนุนการเชื่อมโยง โดยดำเนินมาตรการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1.1 ผลักดันร่างกฎหมายรองรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (demutualization) เพื่อยกเลิกการผูกขาด เปิดให้มีคู่แข่งในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกการผูกขาดของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ในการเข้าถึงระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และยกเลิกการผูกขาดของ บล. สมาชิกในกระบวนการตัดสินใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจร่าง 1.2 ออกเกณฑ์รองรับการขาย Exchange Traded Fund (ETF) ต่างประเทศและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกองทุนรวมไทย ลดการผูกขาดของ บลจ. ไทย 1.3 สนับสนุนโครงการ ASEAN Linkage โดยปรับปรุงเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เช่น 1.3.1 อนุญาตให้ บล. ไทยนำบทวิเคราะห์ของ บล. ต่างประเทศมาเผยแพร่และเปิดให้บุคลากรของ บล. ต่างประเทศร่วมกับ บล. ไทยให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนไทย 1.3.2 อนุญาตให้สำนักหักบัญชีและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นสมาชิกของศูนย์รับฝากฯและสำนักหักบัญชีของไทย เพื่อรองรับการซื้อขายข้ามตลาด 1.4 เปิดให้รัฐบาลต่างประเทศเป็น originator ในการออก securitization 1.5 ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ผู้ลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น 1.6 รวบรวมและเปรียบเทียบเกณฑ์ของกองทุนรวมไทยกับเกณฑ์สากลที่เป็นอุปสรรคในการแข่งขันของ บลจ. ไทย เพื่อนำมาปรับปรุงเกณฑ์และเตรียมรับการแข่งขัน 2. เปิดช่องทางสำหรับสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนมีทางเลือกและมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ 2.1 ออกเกณฑ์การจัดตั้ง infrastructure fund รองรับการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ออกเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ (FX bond) ในประเทศไทย การออก Sukuk การจัดตั้งกองทุนรวมทองคำ (gold fund) ที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือจัดตั้งในรูป gold ETF รวมทั้งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มประเภทของสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงภายใต้ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ได้แก่ กลุ่มโลหะมีค่า (เงิน แพลทตินัม) กลุ่มโลหะอื่น (ทองแดง สังกะสี เหล็ก อลูมินั่ม ดีบุก) กลุ่มสินทรัพย์อื่น (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า พลาสติก) และกลุ่มตัวแปรอื่น (ค่าระวาง คาร์บอนเครดิต ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์) นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ตลาดอนุพันธ์ ออกตราสาร interest rate futures/bond futures อีกด้วย 2.2 เสนอแนวทางปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC fund) ต่อกระทรวงการคลัง โดยเน้นเฉพาะธุรกิจที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน 3. ปรับปรุงการกำกับดูแลและประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย 3.1 ปรับปรุงเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ โดยลดการตัดสินใจแทนผู้ลงทุน ด้วยการยกเลิกเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องประเภทธุรกิจที่เหมาะสมและการใช้ดุลยพินิจในเรื่องความอยู่รอดทางธุรกิจหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก แต่ยังคงเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ต้องพิจารณาอนุญาตในเรื่องต้องเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจถูกกฎหมายและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี 3.2 เน้นคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน โดยดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีอย่างเข้มงวด ติดตามการทำรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการผ่องถ่ายผลประโยชน์ออกจากบริษัท แก้เกณฑ์ให้ผู้สอบบัญชีต้องสังกัดสำนักงาน สอบบัญชีที่มีระบบ Quality Assurance ภายใน 1 มกราคม 2556 ให้ชมรมวาณิชธนกิจจัดทำมาตรฐานการทำ due diligence ของที่ปรึกษาทางการเงิน และเริ่มให้มีการเปิดเผยคำถามและคำตอบระหว่าง ก.ล.ต. กับที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับปรุงแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น (filing) 3.3 จัดทำคู่มือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.4 ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายกองทุนรวม โดยเน้นการแจกแจงและจัดระดับความเสี่ยง รวมถึงให้มี fact sheet สำหรับตราสารที่มีความซับซ้อน 3.5 เพิ่มความเข้มงวดในการให้คำแนะนำและขายสินค้าที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า โดยให้ผู้ขายต้องทำความรู้จักลูกค้าและประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ก่อนให้คำแนะนำหรือขายหลักทรัพย์ให้ 3.6 กำหนดให้ผู้บริหาร บล. ร่วมรับผิดกรณี บล. หรือลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสมด้วยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนในการกระทำผิด 3.7 ผลักดันให้สมาคม บล. และ บลจ. จัดทำมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลของตราสารที่ตนจะลงทุนหรือแนะนำให้ลูกค้าลงทุน (due diligence) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน 3.8 ให้สมาคม บล. จัดทำมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล. 3.9 ตรวจสอบ บล. และ บลจ. ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 ตรวจสอบกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงครบทุกบริษัท และจะดำเนินการตรวจสอบครบทุก บล. ทุก 3 ปี และครบทุก บลจ. ทุก 5 ปี 3.10 แก้ไขเกณฑ์การกำกับดูแล Credit Rating Agency เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 3.11 เน้นการติดตามแบบบูรณาการ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่วนงานภายในในการประเมินและติดตามบริษัทจดทะเบียนที่มีความเสี่ยงสูง 3.12 ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อนำมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty) และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) มาใช้ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับในวงการยุติธรรมและวงการวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ดังกล่าว 4. สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เพื่อให้ปกป้องประโยชน์ของตนเองได้อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากทางการ และเอื้อให้ภาคธุรกิจพัฒนาสินค้าและบริการใหม่สู่ตลาดทุน โดยมีแผนการที่จะผลักดันการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิด financial planner นอกจากนี้ ได้ผลักดันการแก้ไขเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้แก่ผู้แทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเข้าประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีแทน โดยกรมพัฒนาธุรกิจฯ จะแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าวหลังเสร็จการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2554 เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมความพร้อม นายธีระชัย กล่าวถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเพิ่มเติมว่า “จากการที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและสนับสนุน การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนมาโดยตลอด ในปีที่ผ่านมาองค์กร Asian Corporate Governance Association (ACGA) ร่วมกับ CLSA (Credit Lyonnais Securities Asia) Asia-Pacific Markets ได้ประเมินระดับ corporate governance ของประเทศในทวีปเอเชีย 11 ประเทศ และได้เลื่อนอันดับของประเทศไทยสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 4 จากปีก่อนที่ได้อันดับที่ 8 โดยประเด็นที่ได้รับการปรับคะแนนสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ การที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น ในการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการยกระดับการกำกับดูแลกิจการ ความสำเร็จนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือของหลายองค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมต่าง ๆ ในตลาดทุน และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกหลายองค์กร สำหรับแผนการดำเนินงานในปีต่อไป ก.ล.ต. จะยังคงดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ปี 2553 — 2555 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ