ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ธ. เมกะ สากลพาณิชย์” ระดับ “A+” และหุ้นกู้ระยะสั้นระดับ “T1” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Wednesday January 31, 2007 08:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ Mega ICBC ที่ระดับ “A+” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “T1” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารสะท้อนถึงการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากธนาคารแม่ในประเทศไต้หวันซึ่งธนาคารมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการขยายกิจการสู่ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของธนาคารในธุรกิจให้กู้ยืมแก่นักลงทุนชาวไต้หวันในฐานะที่เป็นธนาคารไต้หวันเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี และการมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ แนวโน้มที่ดีของการลงทุนจากประเทศไต้หวันในประเทศไทยยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางธุรกิจของธนาคารด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ได้รับแรงกดดันในระดับหนึ่งจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารที่เอื้ออำนวยน้อยลง และการมีเครือข่ายธุรกิจและสาขาของธนาคารในประเทศไทยที่จำกัดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารที่ระดับ “T1” สะท้อนถึงสถานะอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารในระดับ “A+” ซึ่งแสดงถึงฐานะการเป็นสาขาธนาคารที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนความสามารถของธนาคารในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะสั้นอันเนื่องมาจากลักษณะของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงในงบดุลของธนาคารและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้ง่าย การที่ธนาคารมีสภาพคล่องในระดับสูงเป็นผลมาจากการที่ธนาคารใช้เวลาเพียง 1 วันในการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารแม่ หรือจากตลาดเงินระหว่างธนาคาร ตลาดซื้อคืนพันธบัตร และจากหน้าต่างเงินกู้ยืม (Loan Window) จากธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารกลางของประเทศไต้หวันซึ่งธนาคารสำรองไว้เป็นแหล่งเงินทุนสภาพคล่องแหล่งสุดท้ายด้วย ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนประมาณ 2 สัปดาห์
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะมีผลประกอบการทางการเงินระยะปานกลางตามที่คาดหมายไว้โดยการใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งทางเครือข่ายธุรกิจของธนาคารแม่ในการขยายธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตยังขึ้นอยู่กับความคาดหมายว่าธนาคารจะยังรักษาบทบาทการเป็นสาขาธนาคารที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารแม่ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์แก่ธนาคารในด้านของการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจและเสริมความยืดหยุ่นและสภาพคล่องทางการเงิน การได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากธนาคารแม่และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งคาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ธนาคารในอนาคตจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารพาณิชย์ลงได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์จากกระทรวงการคลังของไทยในเดือนสิงหาคม 2548 และเป็นธนาคารที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยธนาคาร เมกะ สากลพาณิชย์ แห่งประเทศไต้หวัน (Mega International Commercial Bank -- Mega ICBC, Taiwan) โดยก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเคยมีฐานะเป็นสาขาธนาคารต่างประเทศเต็มรูปแบบในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2490 ธนาคารได้รวมระบบการดำเนินงานรวมทั้งรูปแบบและกลยุทธ์ธุรกิจกับธนาคารแม่แบบบูรณาการ และใช้ชื่อเสียงของธนาคารแม่ภายใต้ชื่อสัญลักษณ์เดียวกัน ฐานลูกค้าของธนาคารส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งระหว่างธนาคารแม่กับบริษัทไต้หวันที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือที่มีบริษัทลูกดำเนินการอยู่ในประเทศไทย วงเงินเสริมสภาพคล่องที่ได้รับจากธนาคารแม่ทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอ ปัจจุบันธนาคารแม่ที่ไต้หวันได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ “A” จาก Standard and Poor’s และ “A2” จาก Moody’s Investors Services ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นผลมาจากการเป็นผู้นำในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการให้บริการทางการเงินสำหรับการนำเข้าและส่งออก (Trade Finance) รวมทั้งการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี สภาพคล่องที่สูง และการสนับสนุนจากธนาคารกลางของประเทศไต้หวัน
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์รายใหม่และมีขนาดเล็ก ธนาคารจึงมีมูลค่าธุรกิจในประเทศไทยที่จำกัดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่ยังเล็กอยู่ ณ เดือนมิถุนายน 2549 สินทรัพย์รวมของธนาคารจึงมีเพียง 10,817 ล้านบาท ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด ธนาคารให้บริการแก่ตลาดเฉพาะในกลุ่มลูกค้าชาวไต้หวันหรือที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีซึ่งสะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ระดับเพียง 4.32% ณ เดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งนับว่าต่ำกว่าสัดส่วนเฉลี่ยที่ระดับ 9.8% สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 14 แห่ง การมีฐานะเงินกองทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลังจากการยกระดับเป็นธนาคารลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศได้ช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารในการขยายสินเชื่อแก่โครงการลงทุนขนาดกลางรายใหม่จากประเทศไต้หวัน ณ เดือนมิถุนายน 2549 ธนาคารมีสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ระดับ 44.2% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเมื่อสินเชื่อของธนาคารขยายตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ