ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ บจม. ไออาร์พีซี ที่ระดับ ‘A-(tha)’

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2007 11:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระยะยาวที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึง ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) ประสบการณ์และชื่อเสียงของบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศอันยาวนาน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการที่มี บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การผลิตปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดซึ่งทำให้บริษัทสามารถเลือกแผนการผลิตที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และยังช่วยลดความผันผวนของรายได้อีกด้วย อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นโดยมีสัดส่วนหนี้สินลดลงอย่างมากเนื่องจากการเพิ่มทุนและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น แต่คาดว่าสัดส่วนหนี้สินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2552 ถึง 2554 เนื่องจากแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
สถานะทางการเงินของบริษัทได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้และการฟื้นตัว อย่างมากในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมี โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าย้อนหลัง 12 เดือน (Net Adjusted Debt to Last-Twelve-Month EBITDAR) แข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4 เท่าในปี 2549 และ 1.0 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2550 จากระดับ 13.2 เท่าในปี 2546 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA to Gross Interest) เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.1 เท่าในปี 2549 และ 13.1 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2550 จากระดับที่ 1.2 เท่าในปี 2546 อย่างไรก็ตามการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2551-2554 ตามแผนการลงทุนในเฟสที่ 2 น่าจะทำให้หนี้สินและสัดส่วนหนี้สินของบริษัทสูงขึ้นในช่วงปี 2552 ถึง 2554 ในขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนใหม่ จะช่วยให้หนี้สินและสัดส่วนหนี้สินของบริษัทลดลงหลังจากปี 2554
ฟิทช์กล่าวอีกว่า IRPC น่าจะได้รับประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการดำเนินการจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในด้านการจัดหาน้ำมันดิบและการขายและแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ระหว่างบริษัทในกลุ่ม อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการผลิตระหว่างบริษัทกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงจากความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดของบริษัท นอกจากนี้อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการการกลั่นน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นและมีความคล่องตัวในการเลือกน้ำมันดิบและผลิตผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และการพึ่งพาการส่งออกที่ค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์เกินความต้องการใช้ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างจะแข็งแกร่งเอาไว้ได้ เนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย และสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ในช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงวัฎจักรขาลงและมีการลงทุนในระดับที่สูงขึ้น
IRPC (เดิมชื่อบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)) ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 โดยเริ่มดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ต่อมาได้มีการขยายการผลิตขึ้นไปยังการกลั่นน้ำมันจนทำให้บริษัทเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่มีการผลิตครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย IRPC เป็นบริษัทกลั่นน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศโดยมีกำลังการกลั่นน้ำมันประมาณ 215,000 บาร์เรลต่อวันและเป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังมีท่าเรือน้ำลึกและโรงไฟฟ้าขนาด 108 เมกะวัตต์เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน IRPC สามารถเพิ่มทุนและหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ได้ในช่วงปลายปี 2548 ซึ่งประกอบด้วย ปตท. และพันธมิตรซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล โดยหลังจากนั้น ปตท. ได้เข้ามาบริหารจัดการการดำเนินการของบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ สิ้นปี 2549 ปตท. ถือหุ้น IRPC อยู่ร้อยละ 31.5 ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรถือหุ้นรวมกันร้อยละ 30
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ,Vincent Milton, + 662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยว
ข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ