พม.ชี้สังคมไทยอ่อนแอ เร่งเดินหน้าฟื้นฟูทุนทางสังคม ดึงสื่อมีบทบาทสร้างความเข้มแข็ง จัดการความรู้สู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2010 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายเผยแพร่ข้อมูลและสื่อมวลชนด้านการพัฒนาสังคม “พลังสื่อ...เพื่อการปฏิรูปสังคมไทย” ตามโครงการพัฒนาระบบกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตและชุมชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนและสังคมไทย พร้อมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีให้สามารถส่งข้อมูลข่าวสารแก่เครือข่ายเผยแพร่ข้อมูล หรือเครือข่ายสื่อมวลชนอบย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายในงานว่า ในปัจจุบันองค์กรเครือข่ายสื่อมวลชน มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจของภาครัฐ โดยเป็นพลังในการผลักดัน เผยแพร่ ส่งเสริมสนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐกับประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมไทยมีความอ่อนแอลงเรื่อยๆ และขาดความเอื้ออาทรต่อกัน โดยจากผลการสำรวจสถานการณ์คุณภาพชีวิตและชุมชนไทยปี ๒๕๕๓ จากครอบครัวไทย ประมาณ ๕๕,๐๐๐ ครอบครัว พบว่า มีมิติที่น่าสนใจหลายด้าน ที่ชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน นายอิสสระ กล่าวต่อว่า มิติแรกคือ มิติความมั่นคงทางด้านรายได้และการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่มีหนี้สินที่คาดว่าไม่สามารถชำระได้ภายใน ๕ ปี กว่าร้อยละ ๕๖.๓ และยังไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนค่าใช้จ่ายในครอบครัว หรือการทำบัญชีครัวเรือน มิติทุนทางสังคม พบว่า ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ การพึ่งพิงกันในชุมชน และการร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มในชุมชนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีความอ่อนแอ มิติสุขภาวะในชุมชน มีประเด็นสำคัญที่พบว่า ร้อยละ ๘.๓ ที่สมาชิกในครอบครัวไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี และครอบครัว ร้อยละ ๑๗.๕ ที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโรคความดัน ร้อยละ ๕๕ และโรคเบาหวาน ร้อยละ ๓๔.๒ และโรคข้อกระดูก ร้อยละ ๒๗.๕ และอีกมิติที่น่าสนใจ คือ มิติการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่อยู่ในระดับดีมาก โดยวัดจากการให้ความสนใจ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ดี เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้เดินหน้า นายอิสสระ กล่าวอีกว่า จากข้อค้นพบนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะได้ผลักดันเร่งดำเนินการฟื้นฟูทุนทางสังคมต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และการให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ของชุมชน การรักษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีสภาเด็กและเยาวชน ในแต่ละพื้นที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ร่วมกับศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ สื่อมวลชน ที่จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และร่วมสร้างสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ