3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เสนอปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2010 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เสนอปล่อยเสรีราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก หวังช่วยแก้ปัญหาระยะยาว รับการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ชี้จะช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนได้ เพราะไม่มีการลักลอบนำออกไปขายต่างประเทศ พร้อมเสนอตั้งราคาขั้นสูงสุดและต่ำสุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยและผู้บริโภค โดยมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาอุดหนุนในกรณีราคาตลาดโลกสูงหรือต่ำกว่ากรอบที่กำหนด นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า ตลอดปี 2553 ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็คือ การส่งเสริมให้อาชีพเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะชาวไร่อ้อย คือ กำลังสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน สำหรับปี 2554 เราก็ยังคงให้ความสำคัญอันดับต้นๆ กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ซึ่งจะป้อนผลผลิตให้แก่โรงงานนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยแนวทางการส่งเสริมจะเป็นการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกอ้อยที่ถูกวิธี ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน วิธีการปลูกอ้อย การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยที่ถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ มีค่าความหวานสูง และมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้ดีขึ้นด้วย นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2554 ที่จะถึงนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนัก เนื่องจากแรงกดดันจากปัญหาสะสมในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะทำให้ปริมาณการบริโภคน้ำตาลไม่ได้เพิ่มมากนัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ปลูกอ้อยในหลายประเทศได้รับผลกระทบ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลที่จะออกสู่ตลาดโลกไม่ได้มากด้วย ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจึงน่าจะทรงตัวในระดับสูง นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานคณะทำงานด้านนโยบายและการบริหารอุตสาหกรรม บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า จากการร่วมประชุมหารือกัน ของภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ต่างเห็นว่าควรจะมีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษา การปรับโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมาชุดหนึ่ง มี ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นประธาน “ในส่วนของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายนั้น เรามองว่า หากราคาน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามกลไกตลาด โดยอิงราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก จะช่วยแก้ปัญหาหลายๆ เรื่องได้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน เนื่องจากการลักลอบนำน้ำตาลในประเทศออกไปขายต่างประเทศ” นายณัฎฐปัญญ์กล่าวและว่า การปรับโครงสร้างด้านราคาน้ำตาลดังกล่าวนี้ จะช่วยรองรับทิศทางของโลกอนาคตที่มีการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น โดยไทยเองก็เป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะต้องพร้อมรองรับการเปิดเสรีทั้งด้านทุน แรงงาน และทรัพยากรการผลิตต่างๆ ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะปล่อยให้ราคาน้ำตาลในประเทศเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกแล้ว แต่ทางกลุ่มผู้ประกอบการก็คำนึงถึงผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยและผู้บริโภคด้วย จึงเสนอให้มีการกำหนดช่วงราคาต่ำสุดและสูงสุดไว้ โดยราคาต่ำสุดควรจะเป็นราคาที่ไม่ทำให้ชาวไร่อ้อยขาดทุน หากต่ำกว่านั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนราคาสูงสุดควรเป็นราคาที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกขึ้นไปสูงกว่านั้น กองทุนฯ ก็จะเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค โดยนำเงินกองทุนฯ (ที่หักจากราคาจำหน่ายในประเทศ) มาชดเชย นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 23 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไว้ว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงาน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเราปล่อยให้ราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงตามตลาดโลก โดยมีการกำหนดราคาขั้นสูงและขั้นต่ำ ก็จะมีการมาหารือกันว่า จะต้องหักเงินเพิ่มจากราคาขายในประเทศอีกเท่าใด เพื่อนำเข้ากองทุนฯ ให้เพียงพอกับการนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรม และช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้บริโภคในระบบ นายชลัช กล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะมีการเสนอให้ปล่อยราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลกแล้วก็ตาม แต่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายก็ยังเห็นว่า ควรมีการกำหนดโควตาน้ำตาลบริโภคภายในประเทศ (โควตา ก.) และการจัดสรรโควตารายสัปดาห์ไว้ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศ ประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัดในนามบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ วารุณี คำไชย (แนน) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 119
แท็ก อาเซียน   (AEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ