กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรค เปิดมิติใหม่ในการดูแลสุขภาพประชาชน ด้วยวิธี”พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพล่วงหน้า”ประเดิมปี 2554 ด้วย 12 โรค ทั้งโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่และโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ผลพยากรณที่ได้จะทำให้รู้ว่า โรคจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เกิดเมื่อไหร่ กับใคร ที่ไหน มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง มีวิธีการป้องกันควบคุมอย่างไร และยังได้ข้อมูลใช้ในการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า เพื่อวางแผนป้องกันและการรับมือเมื่อเกิดโรค
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี พ.ศ.2554 เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการทำงานของกรมควบคุมโรค เพื่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนในลักษณะของการคาดการณ์ หรือการทำนายล่วงหน้าเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพต่างๆที่จะเกิดขึ้นในรอบปี ทั้งนี้เนื่องมาจาก ภาวะการเกิดโรคติดต่อ โรคระบาด และภัยสุขภาพ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ และพบว่าในหลาย ๆ ครั้ง จะมี รูปแบบ ลักษณะ การเกิดทั้งช่วงเวลา พื้นที่ บุคคล และปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นลักษณะจำเพาะ ที่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่และโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี
“การพยากรณ์โรค” จะอาศัยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งได้จากการรวบรวมโดยนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เป็นผู้นำมาสังเคราะห์และทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (เช่น 3 เดือนข้างหน้า ปีหน้า) โดยใช้รูปแบบการประมวลผลอย่างง่าย และใช้หลักวิชาการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค มีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกิดความตระหนัก เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน การดูแลสุขภาพ และการรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดโรค
ทั้งนี้โรคและภัยสุขภาพต่างๆที่ได้มีการพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ในปี2554นี้ มีทั้งสิ้น 12 โรค ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซีส(โรคฉี่หนู) โรคพิษสุนัขบ้า โรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี โรคไข้เลือดออก การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เด็กจมน้ำ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเอดส์ อุบัติภัยจากสารเคมี ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากหมอกควัน และเชื้อวัณโรคดื้อยา โดยเนื้อหาหลักๆในการพยากรณ์โรคแต่ละโรคจะทำให้ทราบถึง การระบาดของโรค ว่าการเกิดโรคมีที่มาหรือสาเหตุมาจากอะไร ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีการทำนายลักษณะอาการของโรค ให้ข้อมูลความรู้เพื่อการควบคุมป้องกันโรค ตลอดจนข้อความรณรงค์เพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรค ตัวอย่างเช่น โรคฉี่หนู การระบาดของโรคจะพบมากในช่วงฤดูฝน และพบผู้ป่วยได้ในทุกภาคของประเทศ กลุ่มเสี่ยงคือประชากรที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ชาวนา ชาวไร่ ผู้ประสบอุทกภัย และนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่ระมัดระวังตัว ซึ่งดาวพระเคราะห์จะส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในราศีของโรคนี้มีไข้เฉียบพลัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่หลังต้นขาและน่อง มีอาการปวดศีรษะรุนแรงและเฉียบพลัน ตาแดง คลื่นไส
และปวดท้องเพื่อหลีกเลี่ยงดาวเคราะห์จากโรค สามารถป้องกันได้โดยไม่เดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ด้วยเท้าเปล่า ควรสวมรองเท้า ใส่ถุงมือเพื่อมิให้เกิดบาดแผลและกันน้ำเข้าสู่แผลทุกครั้ง จัดระบบระบายน้ำ ทำแนวทางเดินให้พื้นที่ที่น้ำท่วม และไม่ใช้น้ำในแหล่งน้ำร่วมกับสัตว์ ควรปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม กำจัดขยะ กำจัดหนู ส่วนผู้ที่มีอาชีพไกด์ควรมีความรู้ในเรื่องโรคและการป้องกัน รวมถึงการแนะนำให้นักท่องเที่ยวทราบด้วยส่วนคำขัวญที่ใช้ในการรณรงค์ป้องกันโรคนี้คือ”ลุยน้ำ ย่ำโคลน เกิดแผล อาจทำให้โดนฉี่หนู”
“การพยากรณ์โรค”จะช่วยให้ทราบถึงข้อมูลหลักๆเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพเป็นการล่วงหน้า ว่า โรคจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เกิดเมื่อไหร่ กับใคร ที่ไหน มีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และจะมีวิธีการป้องกันควบคุมอย่างไร และข้อมูลนี้จะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย คือ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน สื่อมวลชน และประชาชน ผลที่ได้ก็คือ นักวิชาการของกรมควบคุมโรคจะสามารถเรียบเรียงข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์การเกิดโรคในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบเพื่อการทำนายโรคล่วงหน้าได้อย่างเป็นหลักวิชาการ ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการทำงานล่วงหน้า เพื่อการป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษา โรคติดต่อและภัยสุขภาพแก่ประชาชน ทำให้การทำงานคำนึงถึงปัจจัยการเกิดโรคมากขึ้น จากเดิมที่จะมุ่งเน้นแต่การเกิดโรคเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังช่วยให้ สื่อมวลชนและประชาชน ได้รับการสื่อสารถึงการเกิดโรคและวิธีปฏิบัติตนเองที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการป้องกันโรคล่วงหน้าได้
นพ.มานิต กล่าวปิดท้ายว่า การพยากรณ์โรคล่วงหน้าเป็นทั้งกลวิธีในการพัฒนานักวิชาการของกรมควบคุมโรค และเป็นช่องทางการสื่อสารเรื่องโรคและภัยสุขภาพ จากกรมควบคุมโรคถึงสื่อมวลชนและประชาชน โดยใช้เทคนิคเชิงการตลาดมาประยุกต์การดำเนินการ และความสำเร็จของการดำเนินการพยากรณ์โรค ไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องความแม่นยำในการทำนายโรคล่วงหน้าเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งหวังเพื่อให้เกิดขบวนการดำเนินงาน ในการพัฒนาบุคลากร การสื่อสารข่าวสารข้อมูลโรคสู่สื่อมวลชนและประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการลดโรคสู่พี่น้องประชาชน
โดยกรมควบคุมโรคจะได้มีการทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์โรคในความรับผิดชอบตลอดทั้งปี2554นี้ เป็นระยะและต่อเนื่องเพื่อนำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆอย่างเป็นระบบต่อไป
กลุ่มเผยแพร่ สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ :0-2590-3862 โทรสาร :0-2590-3386