กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
แผนการออกพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 2/2554 ผลการจำหน่ายตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาว การออกพันธบัตรออมทรัพย์ และความคืบหน้าในการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จัดการแถลงข่าว ในวันที่ 23 ธันวาคม 2553 เกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ผลการจำหน่ายตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ แนวทางการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และความคืบหน้าในการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. แผนการออกพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 2/2554
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้กำหนดแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยจะดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นวงเงินรวม 94,500 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 60,500 ล้านบาท และเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 34,000 ล้านบาท มีตารางการออกพันธบัตรรัฐบาล
ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 2/2554 จะเป็นครั้งแรกที่กระทรวงการคลังดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 50 ปี วงเงิน 3,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุที่ยาวที่สุดของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 50 ปีได้
นอกจากนั้น แผนการออกพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 2/2554 สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ สบน. ให้สอดรับกับภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และจากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนระยะยาวอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับการที่เงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2554 อยู่ในระดับที่สูงถึงกว่า 250,000 ล้านบาท สบน. จึงได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
- ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรรุ่นอายุระหว่าง 5 — 10 ปี ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 10,000 ล้านบาท (จากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่เคยมีวงเงินการประมูลต่อครั้งที่ 12,500 ล้านบาท และ 12,000 ล้านบาท ตามลำดับ)
- ปรับเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรรุ่นอายุ 30 ปี ให้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาทต่อครั้ง (จากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่เคยมีวงเงินการประมูลต่อครั้งที่ 3,000 ล้าน)
- งดการออกตั๋วเงินคลังทุกรุ่นอายุชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน (มกราคม และกุมภาพันธ์ 2554) ซึ่งจะทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นมีนาคม 2554 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 75,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุน* โดยเงินคงคลังระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการบริหารเงินสด ในการนี้ สบน. ได้มีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ออกตั๋วเงินระยะสั้นเพิ่มขึ้นทดแทนตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สบน. จะมีการประเมินสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสภาวะตลาดอย่างเหมาะสมต่อไป
2. ผลการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาว อายุ 12 และ 18 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่
ในวันที่ 22 ธันวาคม 2553 สบน. ได้ดำเนินการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรูปแบบใหม่ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และมีอายุสูงถึง 12 ปี และ 18 ปี (จากเดิมตั๋วสัญญาใช้เงินจะมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวและมีอายุไม่เกิน 6 ปี) วงเงิน 39,770 ล้านบาท โดยมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต และธนาคารพาณิชย์ เข้าร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ (ไทยเข้มแข็ง) ซึ่งสอดคล้องกับแผนการระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว ที่จะใช้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ระยะสั้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเบิกจ่ายเงินกู้และการลงทุน จากนั้นจึงปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นตราสารหนี้ระยะยาวในภายหลังเพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้ระยะสั้น และลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อครบกำหนดชำระ โดยมีผลประมูลเบื้องต้น ดังนี้
- Bid Coverage Ratio เท่ากับ 1.13 เท่า
- แบ่งเป็นวงเงินของรุ่น 12 ปี เท่ากับร้อยละ 56 และรุ่น 18 ปี เท่ากับร้อยละ 44 ของวงเงินที่ประมูล
ในการนี้ สบน. จะได้มีการประกาศผลการประมูลให้ผู้ประมูลทราบในโอกาสแรก ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวกำหนดให้มีการชำระเงินในวันที่ 21 มกราคม 2554
3. แนวทางการออกพันธบัตรออมทรัพย์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รุ่นอายุประมาณ 7 — 12 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือแบบขั้นบันได ในช่วงเดือนเมษายน 2554 วงเงินรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นวงเงินสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ไทยเข้มแข็ง
4. ความคืบหน้าของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย
นอกจากนี้ นายจักรกฤศฏิ์ ยังกล่าวรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งในส่วนที่ สบน. รับผิดชอบได้แก่การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทผลตอบแทนแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond: ILB) และการพัฒนาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้โดยการปรับปรุงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ของผู้ค้าหลัก (Primary Dealer) รายละเอียด ดังนี้
4.1 การออก ILB
สบน. มีแผนการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงเดือนมกราคม 2554 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในโครงสร้างของ ILB และเตรียมพร้อมก่อนการจำหน่ายจริงในเดือนพฤษภาคม 2554
4.2 การพัฒนาระบบ Primary Dealers (PDs)
สบน. กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของ PD และผู้ค้าทั้งหมด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการดำเนินงานใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ เพื่อกำหนดหน้าที่ และสิทธิประโยชน์ และจัดทำรายชื่อของผู้ที่สามารถเป็น PD ในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้ระบบ PD สามารถทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและนักลงทุน เป็น Market Maker ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการดำเนินงานในตลาดอนุพันธ์ในอนาคต
ทั้งนี้ สบน. จะเชิญ PD และผู้ค้าที่สนใจเข้าร่วมในการเป็น PD รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เข้าร่วมประชุมเพื่อประกาศหน้าที่และสิทธิประโยชน์ของ PD ที่ปรับปรุงแล้วในช่วงเดือนมีนาคม 2554
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สบน. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อแผนการออกพันธบัตรของรัฐบาล สบน. จะมีการหารือกับผู้ร่วมตลาด ก่อนมีการตัดสินใจปรับแผนฯ และประกาศให้สาธารณชนทราบ ต่อไป