กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นระดับ “A+” จาก “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีน ตลอดจนผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่ดีขึ้น และความสามารถในการรักษาอัตราการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในขณะที่มีการขยายธุรกิจ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี รวมถึงประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่มีการกระจายตัวทั้งจากธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกและมาตรการต่าง ๆ ที่มิอาจคาดการณ์ของทางการจีนได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยโดยมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด โรงงานน้ำตาลของเครือมิตรผลในประเทศไทยมี 5 แห่ง โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 132,500 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2552/2553 กลุ่มมิตรผลยังคงผลิตน้ำตาลได้สูงสุดในประเทศไทยที่ระดับ 1.29 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 18.57% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านปริมาณอ้อยในสัดส่วน 18.09% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มไทยรุ่งเรือง (18.23%) เพียงเล็กน้อย แต่มากกว่ากลุ่มไทยเอกลักษณ์ (13.73%) และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (6.42%)
บริษัทน้ำตาลมิตรผลยังขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน โดยปัจจุบันเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งซึ่งผลิตน้ำตาลได้ 954,460 ตันในปีการผลิต 2552/2553 คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 8.91% ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานในประเทศจีนที่ระดับ 125.57 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโรงงานในกลุ่มมิตรผลในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 103.87 กก. ต่อตันอ้อย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 รายได้รวมของกลุ่มมิตรผลอยู่ที่ 44,826 ล้านบาท และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) อยู่ที่ 11,282 ล้านบาทจากผลของราคาน้ำตาลในประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก รายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 40.58% ของรายได้รวมของกลุ่ม และคิดเป็น 54.14% ของ EBITDA รวมของกลุ่ม นอกจากนี้ บริษัทยังขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตแผ่นไม้อัด และธุรกิจผลิตกระดาษ โดยปัจจุบันโรงงานเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 600,000 ลิตรต่อวัน อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 ลดลงเหลือ 71% จากการขาดแคลนโมลาสซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก อย่างไรก็ตาม EBITDA ของธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 1,815 ล้านบาทในปีการผลิต 2552 เป็น 2,103 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 อันเป็นผลมาจากราคาเอทานอลที่สูงขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงผลประกอบการทางการเงินของบริษัทน้ำตาลมิตรผลว่าเข้มแข็งขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 บริษัทมียอดขายรวม 44,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.56% จากช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2552 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของน้ำตาลและเอทานอล อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก15.35% ในปีการผลิต 2552 เป็น 25.11% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 บริษัทมีงบลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 9,000 ล้านบาทในช่วงปีการผลิต 2554-2555 เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในประเทศ รวมถึงใช้ลงทุนในโรงงานผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลางและในบริษัทผลิตน้ำตาลในประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทเตรียมจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการดังกล่าวทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและจากวงเงินกู้ใหม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 50% ในระหว่างปีการผลิต 2554-2555
ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2553/2554 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีการผลิตที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลของโลกจะขึ้นอยู่กับการผลิตของประเทศบราซิลและอินเดียเป็นหลัก ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในปี 2553 ผันผวนเป็นอย่างมาก โดยลดลงจากจุดสูงสุดที่ 28.94 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2553 มาอยู่ที่ 18.07 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2553 และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 35.44 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่วนในประเทศจีนนั้น ราคาน้ำตาลมักเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งตามการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,746 หยวนต่อตันในเดือนตุลาคม 2551 เป็นมากกว่า 7,000 หยวนต่อตันในเดือนพฤศจิกายน 2553 จากการขาดแคลนอุปทานภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนในการควบคุมราคาสินค้าและอาหาร รวมทั้งการนำน้ำตาลสำรองของรัฐออกมาจำหน่ายในตลาดทำให้คาดว่าราคาน้ำตาลในประเทศจีนจะอ่อนตัวลงจากระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: เพิ่มเป็น A+ จาก Aอันดับเครดิตตราสารหนี้:MPSC116A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC11OA: หุ้นกู้มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC126A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC12OA: หุ้นกู้มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC136B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 เพิ่มเป็น A+ จาก A MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 เพิ่มเป็น A+ จาก A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)