ธนาคารทหารไทยแจ้งผลประกอบการประจำปี 2549

ข่าวทั่วไป Friday January 19, 2007 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ธนาคารทหารไทย
ธนาคารทหารไทยแจ้งผลประกอบการประจำปี 2549 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนการตั้งสำรองและรายการพิเศษ 6,458 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 18.7%
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เผย ผลประกอบการ (ก่อนการตรวจสอบ) ประจำปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 12,283 ล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) และสำรองขาดทุนจากตั๋วเงินบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) จำนวนรวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท
ในปี 2549 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 19,185 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 20,100 ล้านบาทในปี 2548 ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 14,972 ล้านบาท และ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เท่ากับ 4,213 ล้านบาท โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานในรอบปี 2549 ก่อนการตั้งสำรองและรายการพิเศษจำนวน 6,458 ล้านบาท
ธนาคารมีอัตราการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ดี โดยเพิ่ม 14.4% จากปีก่อนหน้า มาเป็น 3,847 ล้านบาท และรายได้จากการปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12% เป็น 772 ล้านบาท ในปี 2549 ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการการเปิดหน่วยรับแลกเปลี่ยนเงินตราในสนามบินสุวรรณภูมิและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
ณ สิ้นปี 2549 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 748,677 ล้านบาท โดยเป็นเงินให้กู้รวม 542,758 ล้านบาท
ในปี 2549 ธนาคารมีความก้าวหน้าในการลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ด้วยเหตุนี้เงินให้กู้โดยรวมจึงลดลงจาก 555,700 ล้านบาทในปีก่อน มาเป็น 542,758 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตที่ดีของสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และสินเชื่อเพื่อรายย่อยก็ตาม
ทั้งนี้ สินเชื่อ SMEs ของธนาคารเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือ 8% จาก 203,000 ล้านบาท ในปี 2548 มาเป็นประมาณ 218,000 ล้านบาท ในปี 2549 ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือ 10% จาก 65,000 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 72,000 ล้านบาท ในปี 2549
ธนาคารมีมูลค่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับ 56,089 ล้านบาท (10.3%) เมื่อเทียบกับ 66,922 ล้านบาท (12%) เมื่อสิ้นปี 2548
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารในปี 2549 เพิ่มขึ้น 13.5% จากปี 2548 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เนื่องจากธนาคารมีปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการขยายสาขา บริการเอทีเอ็ม และปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน ที่เพิ่มขึ้น 800 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีการว่าจ้างบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มเติมเพื่อการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีโครงการเกษียณอายุงานก่อนกำหนด ตามแผนการเปลี่ยนแปลงองค์กร ซึ่งธนาคารมีความคืบหน้าในการปรับอัตรากำลังคนและการปรับปรุงเครือข่ายสาขา
นายสุภัคเปิดเผยว่า สำรองที่ตั้งขึ้นจำนวน 18,000 ล้านบาท และส่งผลกระทบให้ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุน ประกอบไปด้วย การตั้งสำรองตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) ประมาณ 13,000 ล้านบาท และตั้งสำรองผลขาดทุนจากตั๋วเงินบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสำรอง TAMC นั้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้วเท่ากับ 700 ล้านบาท แต่เนื่องจากธนาคารอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อพิพาทกับ TAMC เกี่ยวกับการตั้งราคาตั๋วเงิน TAMC ธนาคารจึงได้ตัดสินใจตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก 4,300 ล้านบาท ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อยุติ
นายสุภัคด้วยว่า ปี 2549 เป็นปีที่ค่อนข้างลำบากสำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง และสภาวะตลาดที่ผันผวน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่แม้ว่าผลประกอบการของธนาคารจะได้รับผลกระทบดังกล่าวมาแล้ว ธนาคารยังสามารถรักษาระดับความเพียงพอด้านเงินกองทุน โดยในปัจจุบันอัตราส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ของธนาคารเท่ากับ 10.4% ณ สิ้นปี 2549 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 8.5% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจากธนาคารตั้งเป้าหมายระดับ CAR ที่สูงกว่า 10.4% ฝ่ายบริหารของธนาคารกำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับผู้ถือหุ้นหลักเกี่ยวกับแนวทางที่จะเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารดีบีเอสเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารในสัดส่วน 31.1% และ 16.1% ตามลำดับ
นายสุภัค กล่าวว่า “ธนาคารอยู่ในระหว่างการหารือกับผู้ถือหุ้นหลัก เกี่ยวกับการรักษาระดับเงินกองทุนที่เราต้องการ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยที่กระทรวงการคลัง ได้แจ้งให้ธนาคารทราบว่าพร้อมที่จะสนับสนุนด้านเงินกองทุนและกำลังจะพิจารณาแผนธุรกิจที่ให้ธนาคารศึกษาโดยละเอียด ซึ่งรวมถึงแผนการเร่งลด NPLs และการปรับโครงสร้างองค์กร ก่อนที่กระทรวงฯจะตัดสินใจดำเนินการต่อไป”
นายสุภัค กล่าวต่อไปอีกว่า “ธนาคารดีบีเอสได้แสดงความสนใจที่จะสนับสนุนธนาคารต่อไป และยินดีที่จะพิจารณาแผนธุรกิจของธนาคารเพื่อการตัดสินใจที่จะสนับสนุนในการยกระดับความเพียงพอของเงินกองทุน”
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจและธุรกิจอื่นๆ เช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายประกัน
ธนาคารมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 468 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 102 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 1,751 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์ 748,700ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549) นับเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นอันดับห้าในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารประกอบด้วย กระทรวงการคลัง (31.1%) ธนาคารดีบีเอส (16.1%) และกองทัพไทย (4.7%)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
โทร. 085 813 3020/ 02 242 3255/ 02 242 3253
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ