“Siamensis.org”...โซเชียล เน็ตเวิร์ก กับบทบาท “การอนุรักษ์”

ข่าวทั่วไป Friday December 24, 2010 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--สวทช. ทุกวันนี้ โซเชียล เน็ตเวิร์ก (Social Network) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่เพียงเป็นช่องทางการพบปะสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้และเป็นพลังขับเคลื่อนในการอนุรักษ์ด้วย ดังเช่น กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ Siamensis.org (สยามเอ็นซิส) ที่นอกจากจะเปลี่ยน เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จนได้ชื่อว่าเป็นสารานุกรมธรรมชาติวิทยาออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและสมบูรณ์แล้ว พวกเขายังใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดรวมพลคนรักธรรมชาติเพื่อร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการรวมตัวออกสำรวจ ค้นคว้าในพื้นที่ต่างๆ จนค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ หลายสิบชนิด รวมทั้งยังมีการเฝ้าระวัง การรณรงค์คัดค้านกิจกรรมหรือโครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ริเริ่มและก่อตั้งสังคมออนไลน์ Siamensis.org กล่าวว่า สยามเอ็นซิสเป็นสังคมเครือข่ายความร่วมมือ เกี่ยวกับการให้ข้อมูลทางด้าน สิ่งแวดล้อมทางออนไลน์ ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจุดเริ่มต้นการก่อตั้งมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ชอบปลาน้ำจืดและพรรณไม้น้ำ ต่อมาเริ่มมีสมาชิกที่มีความสนใจหลากหลายขึ้น จึงทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้ขยายวงออกไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น แมลง พืช สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น “การดำเนินงานของกลุ่มนั้นจะมีในส่วนเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านธรรมชาติวิทยา โดยในส่วนของเว็บไซต์ http://www.siamensis.org จะประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ 1.บทความทางด้านวิชาการ ที่เน้นเขียนให้อ่านง่าย 2.ดัชนีสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งรวบรวมภาพและข้อมูลของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย ซึ่งสมาชิกทุกคนมีความตั้งใจไว้ว่าจะรวบรวมให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาให้เป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติออนไลน์ ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย 3.คลังเอกสาร หรือ ห้องสมุดออนไลน์ เป็นส่วนแบ่งปันเอกสารที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ รายงาน แผ่นพับ วารสาร เป็นต้น และ 4. เว็บบอร์ด แหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคำถามด้านธรรมชาติวิทยา เช่น เห็นแมลงปอหน้าบ้านอยากรู้ว่าเป็นชนิดอะไร ก็เข้ามาโพสต์ไว้ เราก็หาคำตอบให้ หรือมีงูเข้าบ้าน และอยากรู้ว่าเป็นงูอะไร เราก็ช่วยหาข้อมูลให้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ใ นส่วนของ เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ นอกจากจะใช้เป็นแหล่งพบปะพูดคุยกันแล้ว ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ช่วยกันติดตามความรู้ความก้าวหน้าทางธรรมชาติวิทยา รวมถึงการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่า หรือเอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) ชนิดพันธุ์ต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นในประเทศไทย” สำหรับในส่วนของกิจกรรม นายนณณ์ กล่าวว่า เนื่องด้วยกลุ่มสยามเอ็นซิส ไม่ได้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่การประสานงาน การรวมกลุ่มจึงอาจจะไม่ได้เหนียวแน่นมากนัก แต่หลายครั้งที่กิจกรรมและการแลกเปลี่ยนบนพื้นที่เล็กๆ นี้ ได้สร้างผลกระทบต่อสังคมในเรื่องของการอนุรักษ์ในหลายๆ มิติเช่นกัน “เป็นที่น่ายินดีว่าจากการกิจกรรมการรวมกันเฉพาะกิจเพื่อเข้าไปร่วมสำรวจ วิจัยในสถานที่ต่างๆ เช่น การสำรวจนกและความหลากหลายทางธรรมชาติวิทยาบนดอยอินทนนท์ หรือแม้แต่ภาพสิ่งมีชีวิตที่สมาชิกนำมาโพสต์บนเว็บไซต์จำนวนไม่น้อย ได้นำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือพบแหล่งการกระจายพันธุ์ใหม่ๆ ในประเทศไทยรวมกันแล้วหลายสิบชนิด ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีอาจารย์ที่หนองบัวลำพูพาเด็กประถมไปเที่ยวน้ำตก ได้ไปเจอปลาชนิดหนึ่งที่ไม่รู้จักและได้นำมาโพสต์ไว้บนเว็บบอร์ดว่าเป็นปลาอะไร ซึ่งเมื่อช่วยกันตรวจสอบกลับพบว่าเป็น New Record ของประเทศไทย หรือกรณีที่นักวิชาการจากต่างสาขา/หน่วยงานกันสามารถช่วยกันศึกษาได้ เช่น สมาชิกคนหนึ่งที่ศึกษาค้างคาว ได้ถ่ายภาพตุ๊กกายที่พบในถ้ำในระหว่างการวิจัยค้างคาว ก็พบว่านั่นเป็นตุ๊กกายชนิดใหม่ของโลก สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเครือข่ายที่ได้จากสยามเอ็นซิส ทำให้เรามีคนคอยช่วยค้นคว้าวิจัยอยู่ตลอดเวลา การรายงานสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ อาจจะไม่ได้จำกัดกรอบอยู่ที่นักวิชาการเฉพาะสาขาดังเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว ภาพถ่ายสิ่งมีชีวิตที่ดูแปลกตาเวลาคุณไปเที่ยว เพียงเอามาแลกเปลี่ยนบนสยามเอ็นซิส ก็อาจจะมีส่วนช่วยให้นักวิชาการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของการรณรงค์หรือคัดค้าน เราก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ลักษณะของการไปถือป้ายประท้วง แต่จะเน้นการต่อสู้ด้วยข้อมูลทางวิชาการ เช่น เมื่อหลายปีก่อนทางกรมประมง มีโครงการปล่อยปลาเฉาเพื่อกำจัดวัชพืชที่บึงหลายแห่งในประเทศไทย เช่น บึงบอระเพ็ด หนองหาน และ กว๊านพะเยา ซึ่งเราก็มีข้อสงสัยถึงขนาดและปริมาณปลาที่นำไปปล่อยว่าจะมีความเหมาะสมต่อแหล่งน้ำนั้นๆ หรือไม่ โดยยังไม่นับรวมถึงความเป็นเอเลี่ยนสปีซีส์ของปลาเฉาด้วยซ้ำ ภายหลังได้ช่วยกันหาข้อมูลและพบว่า การปล่อยปลาเฉาอาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ เพราะปริมาณที่ปล่อยมีมากเกินไป อาจทำให้พวกมันกินพืชจำนวนมาก จนทำให้ปลาชนิดอื่นๆ ไม่มีที่อยู่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ ทางสยามเอ็นซิสจึงเขียนเอกสารเป็นจดหมายเปิดผนึกยื่นให้กับกรมประมง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี และล้มเลิกโครงการนั้นไป ส่วนการรณรงค์ที่ยังทำต่อเนื่องอยู่ในช่วงนี้คือการให้ข้อมูลทางด้านการสร้างฝายที่ถูกต้อง เพราะในปัจจุบันมีการสร้างฝายในจุดที่ไม่เหมาะสม ทำให้เป็นการทำลายธรรมชาติมากกว่าการช่วยเหลือ” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน โซเชียล เน็ตเวิร์ก นี้ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการขยายองค์ความรู้ และจุดประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่ง siamensis.org ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยาได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ในอนาคต นายนณณ์ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก social network  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ