ทีเคปาร์ค จัดสัมมนาวิชาการ “ทีเค เปิดโลกห้องสมุดเด็ก”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 8, 2007 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) ห้องสมุดแห่งโอกาส มุ่งมั่นในภารกิจขยายฐานความรู้สู่ภูมิภาค ส่งเสริมเด็กไทยให้รักการอ่าน ด้วยการจัดสัมมนาวิชาการ “ทีเค เปิดโลกห้องสมุดเด็ก” ขึ้น ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแนะนำโครงการห้องสมุดเด็ก (Thai Kid Park) กระจายห้องสมุดไปไว้ใกล้บ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและเทศ ร่วมสัมมนาเรื่องการสร้างห้องสมุดเด็ก รวมถึงสถานการณ์และแนวโน้มการจัดทำห้องสมุดเด็กในไทย ท่ามกลางแขกผู้ที่สนใจทั้งจากแวดวงคณาจารย์ บรรณารักษ์ ตลอดจนคนรักหนังสือมากมาย
มิสโยริโกะ ทาเคอุชิ กรรมการในคณะกรรมการกิจการต่างประเทศ สมาคมนักเขียนสำหรับเด็กแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึงบุงโกะ (Bunko) หรือบ้านหนังสือ แนวทางหนึ่งที่เป็นต้นกำเนิดของกิจกรรมการอ่านที่ดีทางหนึ่งของโลก ประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงประเทศไทย ว่า “บุง แปลว่าหนังสือ โกะ แปลว่าบ้าน บุงโกะ ก็คือบ้านหนังสือ ขุมทรัพย์ความรู้ หรือห้องสมุดสำหรับเด็กรากหญ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในบ้านส่วนตัว ชุมชน วัด โบสถ์ ฯลฯ มีอยู่ทั่วญี่ปุ่นกว่า 4,000 แห่งในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งเป็นแม่บ้านที่รักการอ่าน และมีความสุขในการแบ่งปันหนังสือให้กับเด็กๆ ในละแวกบ้าน อาทิ มิสอินช์ แม่บ้านชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่สร้างบ้านหนังสือ ขึ้นจากหนังสือเพียงเล่มเดียว เมื่อได้รับหนังสือ กุริ กับกุระ เป็นของขวัญคริสต์มาส เมื่อต้องย้ายไปพำนักต่างแดน หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มโปรดตั้งแต่ยังเยาว์ ที่พาตัวเธอกลับไปสู่เรื่องราวสมัยเด็กได้ จึงเป็นการจุดประกาย ให้สร้างบล็อกเว็บไซต์ของตนเอง ขอบริจาคหนังสือ เพื่อการจัดตั้งบ้านหนังสือ ในเวลาไม่นาน ก็ได้รับหนังสือจากทั่วโลกถึง 62 กล่อง จึงได้เปิดบ้านหนังสือขึ้น หรือตัวอย่างในเมืองไทย แม่บ้านชาวญี่ปุ่น ก็สร้างห้องสมุดเด็ก ชื่อ บ้านสวัสดี ในปี 1995 โดยเริ่มจากเงินลงทุน 3 แสนเยน ในคอนโดของตนเอง เพราะอยากจะสนุกกับเด็กๆ เริ่มจากการเล่านิทานให้ฟังเดือนละ 2 ครั้ง และมีความเชื่อว่าการปลูกนิสัยรักการอ่านจะต้องกระทำเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 1-6 ปี เมื่อต้องย้าย ถิ่นฐานตามครอบครัว จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกรักการอ่าน แม้บ้านหนังสือจะเป็นการจัดตั้งขึ้นตามใจฉัน วันไหนแม่บ้านผู้ดูแล บ้านหนังสือป่วย หรือมีธุระ ก็ต้องปิดบ้านหนังสือก็ตาม แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน และยังสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้านเดียวกัน บ้านหนังสือเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกัน บางทีคนข้างๆ บ้านเรา อาจจะมีความคิดแบบเดียวกันในการทำบ้านหนังสือก็ได้ นอกจากนี้ ยังได้ย้ำเกณฑ์การจัดห้องสมุดสำหรับเด็กว่าคนในบ้านต้องใจดี บรรณารักษ์รักหนังสือ รู้กฎกติการใช้บ้านหนังสือ มีกฎระเบียบเข้มงวด และต้องคืนหนังสือ สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ญี่ปุ่นอยากให้มีในห้องสมุดก็แค่ การมีหนังสือที่ตนชอบ ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติก็เพียงพอแล้ว”
อาจารย์อัจฉรา ประดิษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เปิดเผยว่า “สถานการณ์ห้องสมุดของบ้านเรา ยังขาดความพร้อมในเรื่องการบริหารการจัดการ นโยบายและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้จุดไฟและปั้นงาน โดยเฉพาะในชนบทที่ยังน่าเป็นห่วง และยังขาดแคลนทุนทรัพย์อีกด้วย และจากการศึกษา พบว่าการส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านจะประสพความสำเร็จอย่างชัดเจน เมื่อการบริหารจัดการ ผู้บริหารทำงานอย่างมุ่งมั่น จริงจัง และต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารโรงเรียนราชวินิต ที่คิดโครงการ ไหว้ครูด้วยหนังสือ ซึ่งเป็นการระดมหนังสือเข้า สู่โรงเรียน และยังเบ่งบานได้นานนับหลายปี ต่างจากดอกไม้ ที่ค่อนข้างสิ้นเปลือง ได้ประโยชน์เพียงระยะสั้น แต่มิได้ละเลยการไหว้ครูตามธรรมเนียมเดิม เพียงเพิ่มหนังสือเข้ามา และทำหิ้งหนังสือไว้ในห้องเรียนทุกห้อง และเนื่องจากเด็กๆ เป็นผู้เลือกหนังสือมาไหว้ครูกันเอง หนังสือที่นำมาจึงตรงตามระดับความต้องการของเด็กแต่ละระดับชั้น เป็นการฝึกให้นักเรียนคุ้นเคยกับการมีหนังสืออยู่ใกล้ตัว ใกล้มือ ช่วงว่างก็หยิบไปอ่านได้ หรือยืมกลับบ้านช่วงเย็นได้ นอกจากนี้ แต่ละห้องยังจัดให้มีบรรณารักษ์น้อยในห้องเรียนเป็นผู้ดูแลการยืมคืนหนังสือ ซึ่งก็ช่วยฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าหากผู้บริหารมีการบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ บรรยากาศ กิจกรรมการส่งเสริมความรู้ ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ธีรวงศ์ ธนิษฐ์เวธน์ เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมไทสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ปริมาณและคุณภาพของหนังสือ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาสำหรับสถานการณ์ห้องสมุดในบ้านเรา ในขณะที่เด็กไทยเกิดขึ้น ปีละหลายแสนคน แต่การจัดพิมพ์หนังสือภาพ ของแต่ละสำนักพิมพ์ ส่วนใหญ่ยังคงมียอดพิมพ์จำนวน 3,000 เล่ม และยังขายไม่หมด เมื่อคนไทยไม่ตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือ ไม่รู้ว่าหนังสือมีประโยชน์อย่างไร ความต้องการจึงไม่เกิดขึ้น เราควรจะปลูกฝังความเข้าใจ ว่าเด็กจะได้อะไรจากหนังสือ สังคมจะได้ประโยชน์อะไรจากหนังสือ สอนให้รู้ว่า การอ่านเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ เป็นการพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต ส่วนเรื่องการรักการอ่าน ก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา ส่วนกลไกที่จะนำห้องสมุดไปสู่ความสำเร็จนั้น เชื่อว่าควรจะเรียงลำดับตามความสำคัญดังนี้ บุคลากรหรือบรรณารักษ์ที่ทำหน้าที่ด้วยหัวใจ หนังสือมีคุณภาพ ตรงใจ ตรงวัย สถานที่ใจกลางชุมชนที่เด็กสามารถเดินไปได้ด้วยตนเอง การบริหารจัดการรวมถึงการสร้างกระบวนการความร่วมมือกับชุมชน และสร้างกิจกรรมให้เป็นสีสันอย่างสม่ำเสมอ เพียงแค่นี้ ห้องสมุดเด็กก็จะเป็นองคาพยพที่ 4 ของชุมชน นอกเหนือไปจาก บ้าน วัด และโรงเรียนนั่นเอง”
เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เปิดเผยว่า “สถานการณ์ห้องสมุดในไทย หลายๆ แห่งเป็นเพียงอนุสาวรีย์หนังสือ เป็นที่เก็บตำราเล่าเรียน หรือหนังสือแจกฟรี ครูบรรณารักษ์ เป็น ผู้ที่ทำงานเพื่อสนองความต้องการของโครงสร้าง แต่ไม่ได้ทำงานด้วยจิตวิญญาณ การเปิดโลกห้องสมุดนั้น เริ่มต้นทำจากพื้นฐานง่ายๆ ก่อน โดยเริ่มที่ครอบครัว เป็นโครงการห้องสมุดเด็กในครอบครัว สำรวจว่า แต่ละบ้านมีหนังสืออะไรบ้าง นำมารวมกัน ทุกครั้งที่ไปแต่ละบ้าน ก็นำคติเร้าใจ ที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ คือ หนังสือจะสนุก จะต้องอ่านกันหลายๆ คนมาใช้ เมื่อรวมหนังสือในบ้านได้แล้ว จะนำไปไว้ในมุมหนึ่งที่สบายๆ ของแต่ละบ้าน เป็นมุมหนังสือของครอบครัว จากแต่ละบ้าน แล้วค่อยนำมารวมกันเป็นส่วนกลางของชุมชน ซึ่งจะสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน และค่อยๆ จัดการแบ่งสรรเป็นหนังสือแต่ละระดับชั้น แต่ละอายุ ในเบื้องต้นของการรวบรวมหนังสือนั้น เราไม่อาจควบคุมเรื่องคุณภาพของหนังสือได้ เพียงแค่ให้เห็นว่ามีประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว และค่อยๆ เสริมสร้างให้เด็กรักการอ่าน ด้วยการสร้างกิจกรรม นักเขียนตัวน้อย นักวาดตัวจ้อย ให้เด็กๆ ได้สร้างหนังสือกันเอง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและรักในหนังสือ เมื่อมีความรักในหนังสือ การจะสร้างค่านิยมเรื่องความรู้อื่นๆ ก็จะตามมาเอง”
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ส่วนบริการ เปิดเผยว่า “สำหรับห้องสมุดเด็กในอุทยานการเรียนรู้ก็เป็นโซนที่จัดขึ้น พยายามที่จะตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กๆ อยากให้ห้องสมุดเป็นอย่างไร มีสีสันสดใส เก้าอี้ใหญ่ๆ เบาะนุ่มๆ เป็นการสร้างบรรยากาศ เรียกความสนใจ เพื่อให้เด็กเข้ามาถึงกระบวนการเรียนรู้ เมื่อเด็กได้อ่าน ได้เห็น ก็ได้คิด และมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การกระจายองค์ความรู้ หรือการเปิดโลกห้องสมุดเด็กทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นได้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งหลาย ต้องรวม พลังกัน ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เห็นคุณค่าของหนังสือ ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่หัวใจของผู้ดูแลห้องสมุด
เด็กๆ อยากได้ห้องสมุดแบบไหนที่โดนใจ เพดานสีดำเพ้นท์รูปดาวระยิบระยับ มียานอวกาศบินรอบๆ เบาะนั่งรูปหัวใจ มีสระว่ายน้ำที่อ่านหนังสือได้ มีหมอนหนุน มีตู้เย็น อ่านหนังสือแล้วหิวก็เปิดทานได้ อยากให้พี่ๆ บรรณารักษ์แต่งคอสตูมสัตว์ หรือมีหนังสือเป็นกระดาษที่ฉีกไม่ขาดก็ตาม .... อย่างไรก็ตาม การเปิดโลกห้องสมุดเด็ก จะเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ จากหัวใจที่มุ่งมั่น ตั้งใจจริง แม้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆ ทึบๆ เพียงห้องเดียว แต่เมื่อทำด้วยหัวใจ บรรยากาศและความรู้สึกก็ต่างกันทันที
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร 02-434-8300, 02-434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ