ทริสเรทติ้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไฮเวย์” เท่าเดิมที่ “BBB+/Stable”

ข่าวทั่วไป Monday February 19, 2007 14:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนประสบการณ์ของคณะผู้บริหารและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ คือ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าของบริษัท รวมทั้งจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แรงกดดันจากผลขาดทุนในการขายรถยึด และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลงและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระค่างวดของลูกค้าซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทไฮเวย์จะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดจากการมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูงและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไฮเวย์เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยพิจารณาจากลูกค้าใหม่ สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,236 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 2,856 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 การแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ที่ได้แรงจูงใจจากอัตราการทำกำไรในระดับสูงของธุรกิจนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกโดยการลดทั้งดอกเบี้ยและเงินดาวน์ ตลอดจนเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระมากกว่า 3 เดือน และสินเชื่อที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย) ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยเกิดจากการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากของสินเชื่อใหม่ในช่วงปี 2547-2548 โดยเพิ่มขึ้นจาก 11.7% ณ สิ้นปี 2547 เป็น 13.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้บริษัทต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ รวมทั้งหยุดโครงการเงินดาวน์ต่ำ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
บริษัทมีปริมาณรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดคืนเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ผนวกกับการที่รถจักรยานยนต์ใหม่ซึ่งมีราคาถูกลงออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้รถจักรยานยนต์มือสองมีราคาลดลง เป็นเหตุให้เกิดการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดเพิ่มขึ้น บริษัทมีผลขาดทุนเฉลี่ยจากการจำหน่ายรถยึดเพิ่มจาก 10,178 บาทต่อคันในปี 2548 หลังจากที่ลดลงจาก 8,067 บาทต่อคันในปี 2546 เป็น 5,800 บาทต่อคันในปี 2547 และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 มีผลขาดทุนเฉลี่ยต่อคันลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 9,653 บาท บริษัทได้เปิดสาขาขนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยึดด้วยตนเอง ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้ราคาดีกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูล อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการนี้ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการพิสูจน์ ทั้งนี้ ปัจจัยด้านลบต่างๆ ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท แม้ว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 9.7% ในปี 2546 เป็น 6.2% ในปี 2547 4.9% ในปี 2548 และ 4.0% สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2549 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ
บริษัทมีสถานภาพเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยธนาคารทิสโก้ซึ่งได้ยกระดับจากการเป็นบริษัทเงินทุนชั้นนำสู่ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อกลางปี 2548 โดยธนาคารทิสโก้มีการตรวจสอบรวมทั้งติดตามแผนธุรกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดโดยให้บริษัทใช้มาตรฐานและแนวทางในการดำเนินงานเดียวกับของธนาคาร ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ