กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ศุลกากรไทยร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย Asian Development Bank (ADB) เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศุลกากรจากกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การควบคุมทางชายแดน และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย เพื่อพัฒนางานศุลกากรให้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาคเอเชีย
ในวันนี้ (วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550) เวลา 09.30 น. นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานร่วมกับ Ms. Noy Siackhachanh ผู้อำนวยการส่วนการเงินของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Director,Governmace,Finance and Trade Division Central and West Asia Department,Asian Development Bank ,ADB) เปิดการสัมมนา เรื่อง Implementation Challenges in Joint Customs Control, Risk Management and Post — Entry Audit ซึ่งศุลกากรไทยและ ADB เป็นเจ้าภาพร่วม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2550 ณ โรงแรม โฟร์ซีซันส์ กรุงเทพฯ โดยมี Mr.Kunio Mikuriya รองเลขาธิการองค์การศุลกากรโลก (Deputy Secretary General, World Customs Organization,WCO) ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของศุลกากรไทย เป็นเช่นเดียวกับศุลกากรทั่วโลก คือ บทบาทด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) โดยการทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ ของกรมศุลกากร เป็นกระบวนการที่ง่าย มีความชัดเจน คาดการณ์ได้ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล นำไปสู่ความรวดเร็วและความสำเร็จ และบทบาทในการควบคุมทางศุลกากร (Customs Control) คือ การควบคุมกระบวนการทำงานของศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยต้องสร้างความสมดุลทั้ง บทบาทด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า และบทบาทในการควบคุมทางศุลกากร
อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มเติมว่า กรมศุลกากรได้นำหลักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) มาใช้ในการควบคุมทางศุลกากร โดยทำเป็นระบบโพรไฟล์ (Profile) ซึ่งจะทำให้ฐานข้อมูลมีความสมบูรณ์มากขึ้น มีการระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบและสามารถจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น รวมทั้งได้นำหลักการบริหารความเสี่ยงมาใช้ร่วมกับการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย หรือ Post Audit ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย อธิบดีกรมศุลกากร และผู้บริหารระดับสูงจากประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง 6 ประเทศ คือ ประเทศอัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน โดยมี นายสังกรณ์ พึ่งประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนศุลกากรไทย