สปส.แจงลูกจ้างตกงานอย่าห่วง พร้อมช่วยเหลือตามสิทธิว่างงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday July 18, 2007 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--สปส.
ประธานบอร์ดประกันสังคม แจงกรณีผู้ประกันตน ถูกเลิกจ้างและลาออกจากงาน อย่าห่วง สปส.พร้อมช่วยเหลือตามสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรีปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม กล่าวว่าผู้ประกันตนที่ได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงานนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
เมื่อผู้ประกันตนว่างงานไม่ว่าจะเป็นการลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง ควรรีบไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ เพื่อขอรับเงินทดแทนตามสิทธิที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานล่าช้าเกินกว่า 30 วัน เงินทดแทนที่จะได้รับจะลดส่วนลงตามวันเวลาที่มายื่นขึ้นทะเบียนฯ ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ลาออกโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างปีละไม่เกิน 90 วัน
ทั้งนี้นายจุฑาธวัช ฯ ย้ำว่า ในกรณีที่ นายจ้างหักเงินสมทบลูกจ้างแล้วไม่นำส่ง ผู้ประกันตนยังคงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่ง มาตรา 47 กำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่จะต้องนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน และเมื่อนายจ้างได้ดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่วันที่นายจ้างหักค่าจ้าง
นอกจากนั้น ในกรณีที่นายจ้างมิได้หักเงินค่าจ้างของผู้ประกันตน เพื่อส่งเป็นเงินสมทบ หรือหักไว้แล้วแต่ยังไม่ครบจำนวนและไม่นำส่ง ให้นายจ้างรับผิดใช้เงินที่ต้องส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเต็มจำนวน และต้องจ่ายเงินเพิ่มในเงินจำนวนนี้และในกรณีเช่นว่านี้ สิทธิที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับคงมีเสมือนหนึ่งผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบแล้วและสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการติดตามให้นายจ้างชำระเงินสมทบให้ถูกต้อง ครบถ้วนต่อไป
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.50 เงินกองทุนประกันสังคม กรณีว่างงานมีจำนวนมากพอที่จะดูแลผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 และดูรายละเอียดได้ที่ www.sso.go.th
…………………………………
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th
สปส.แจงกองทุนแสนล้านบริหารจัดการอย่างไร
ประธานบอร์ดประกันสังคม แจงเงินกองทุน 4.5 แสนล้านดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนถึง 7 กรณี โดยเฉพาะกองทุนสงเคราะห์ชราภาพเงินก้อนใหญ่กว่า 3.6 แสนล้าน ต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อจ่ายให้เป็นบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนในปี 57
นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า“จากที่มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีเงินกว่าแสนล้านที่ช่วยดูแลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง นั้น ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เงินกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2550 มีอยู่ 456,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28,809 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสที่ 1 (ณ 31 มี.ค.50) และมีความมั่นใจว่ากองทุนจะมีความมั่นคงต่อไป”
“เงินจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จำนวน 363,667 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ โดยจะเริ่มมีการจ่ายในปี พ.ศ. 2557 เป็นปีแรก ที่เหลือเป็นเงินกองทุนที่ดูแล 4 กรณี (เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพและ คลอดบุตร) จำนวน 67,619 ล้านบาท และ เป็นเงินกองทุนกรณีว่างงานจำนวน 24,766 ล้านบาทเงินกว่า 4.5 แสนล้านบาท นี้ สปส.นำไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลมากขึ้น โดยแบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ร้อยละ 82 และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้รับผลตอบแทนมาก ร้อยละ 18” ทั้งนี้ ที่ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ว่ากองทุนประกันสังคมแสนล้านช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างนั้น คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงข้างต้น
นายจุฑาธวัช ฯ กล่าวต่อไปว่า“กรณีที่นายจ้างปิดกิจการ ทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงานก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในทันทีที่นายจ้างปิดกิจการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบว่านายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแก่ลูกจ้างหรือไม่ และหลังจากนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมในการตรวจสอบว่านายจ้างแจ้งปิดกิจการหรือไม่ หากลูกจ้าง ถูกเลิกจ้าง สปส.จะให้ความความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี และหากลูกจ้างส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนออกจากงานก็จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ส่วนการลาออกโดยสมัครใจจะได้รับประโยชน์ทดแทนระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน และ ในขณะเดียวกัน กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยเหลือให้ผู้ถูกเลิกจ้างได้งานทำหรือฝึกอาชีพต่อไป”
…………………………………
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 / www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ