แฮ็ค- ท๊อป สองหนุ่มนักคณิตศาสตร์ออกแบบลายผ้าด้วยโปรแกรม GSP

ข่าวทั่วไป Tuesday December 28, 2010 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สสวท. โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) เป็นโปรแกรมเพื่อการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนประกอบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนคณิตศาสตร์โดยสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง สามารถพัฒนาทักษะของการนึกภาพ ทักษะของกระบวนการแก้ปัญหา ช่วยสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นความสนใจในการเรียนคณิตศาสตร์ได้มากขึ้น ปัจจุบันกว่า 60 ประเทศทั่วโลกเขาใช้โปรแกรมนี้กันแล้ว มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ หากรวมภาษาไทยด้วยก็ 16 ภาษา โดยโปรแกรม GSP พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Key Curriculum Press ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้ลงนามในพิธีครองลิขสิทธิ์การใช้ซอฟท์แวร์ GSP เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่มีการนำโปรแกรม GSP มาใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งนักเรียนได้มีการต่อยอดการเรียนรู้สู่การสร้างผลงานทางคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจ ล่าสุด วรวิทย์ อุตมัง (แฮ็ค) และ ธวัชชัย อุตมัง (ท๊อป) ชั้น ม. 5/1 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ออกแบบลายผ้าด้วยโปรแกรม GSP ดังกล่าว ด้วยใจรักทางคณิตศาสตร์ ทั้งสองจึงใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนประมาณวันละ 30 นาที — 1 ชั่วโมงทุกวัน ขลุกอยู่ในห้องคณิตศาสตร์และฝึกฝนการใช้โปรแกรม GSP ก่อนกลับบ้าน จนเกิดความชำนาญ และทดลองออกแบบลวดลายผ้าด้วยตัวเอง เมื่อได้ลวดลายสวยงามถูกใจแล้ว จึงได้นำลายผ้าไปให้กลุ่มทอผ้าบ้านเลิงจัดการทอจนกลายเป็นผืนผ้าตามที่ต้องการ เช่น ลายผีตาโขน ลายไก่ ลายนก ลายดอกไม้ต่าง ๆ ในการสร้างลวดลายใช้คำสั่งสำคัญในโปรแกรม GSP เช่น คำสั่ง การสร้างเส้นตรง การแปลงทางเรขาคณิต การเลื่อนขนาน การสะท้อน การหมุน เป็นต้น แฮ็ค (วรวิทย์ อุตมัง) ได้เริ่มรู้จักว่ามีโปรแกรม GSP ใช้ในการเรียนคณิตศาสตร์ ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนภูหลวงวิทยา จากนั้นได้ย้ายมาศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนนี้ก็ยังไม่ได้สัมผัสจริงจัง จนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คุณครูนำโปรแกรม GSP มาสอนงการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และมีการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ “ตอนที่เริ่มฝึกใช้โปรแกรม GSP ยังใช้งานไม่ค่อยเป็น แต่ก็ได้ฝึกฝนบ่อย ๆ จนได้พัฒนาทักษะขึ้นมาเรื่อย ๆ รู้สึกดีใจที่ปัจจุบันเราสามารถเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งตอนแรกเรามองภาพรวมต่าง ๆ เป็นนามธรรม ไม่มีรูปภาพ แต่พอใช้โปรแกรมนี้ทำให้เรียนคณิตศาสตร์เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน เช่นกราฟ หรือพื้นที่ต่าง ๆ” เนื้อหาที่แฮ็คชอบมากและถนัดที่สุดคือ เรื่องของฟังก์ชัน กราฟ เพราะว่าเรียนสนุก ซึ่งโปรแกรมนี้จะแสดงผลออกมาอย่างชัดเจนและเข้าใจ โปรแกรม GSP (Geometer ‘s sketchpad) ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ได้ดี มีความแม่นยำถูกต้อง โดยเขากล่าวว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องรอบ ๆ ตัว ที่เราสามารถมองทุกอย่างเป็นคณิตศาสตร์ได้ ตัวอย่างการทำรั้วล้อมรอบที่ดิน ต้องมีการคิดคำนวณต่าง ๆ เราก็สามารถแปลงเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ด้วยโปรแกรมนี้ และโปรแกรมนี้ยังสามารถประยุกต์กับวิชาฟิสิกส์ในเรื่องของคลื่น ซึ่งตรงกับเรื่องกราฟในวิชาคณิตศาสตร์ ท๊อป (ธวัชชัย อุตมัง) เล่าว่า ท็อปกับแฮ็คจะทำงานร่วมกัน โดยแบ่งงานตามความถนัด แฮ็คจะถนัดในด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ ส่วนตัวท๊อปจะถนัดเนื้อหาและกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ เทคนิคการเรียนคณิตศาสตร์ ของท๊อป คือ ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำแบบฝึกหัด การเรียนคณิตศาสตร์จะต้องขยันทำโจทย์ จะได้เจอโจทย์รูปแบบใหม่ ๆ หาวิธีแก้ต่อไป ส่วนเทคนิคการฝึกปรือการใช้โปรแกรม GSP ส่วนใหญ่มาจากการแก้โจทย์ เพื่อต่อยอดทางความคิด “สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่เข้าใจโปรแกรมนี้ การฝึกหัดใช้โปรแกรม GSP นั้นไม่ยาก ในโปรแกรมมีเมนูพื้นฐานและเครื่องมือเป็นภาษาไทย คำสั่งที่ใช้ส่วนใหญ่ก็มีการแปลงทางเรขาคณิต การสร้างรูปต่าง ๆ การคำนวณ เขียนกราฟ ถ้าใช้คำสั่งพื้นฐานเหล่านี้เป็น เราก็สามารถประยุกต์ไปยังเรื่องต่าง ๆได้ ฝึกฝน บ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญก็จะสามารถประยุกต์ใช้ทำความเข้าใจวิชาอื่น ๆ ได้ เช่น ฟิสิกส์ เป็นต้น” จากการติดตามผลการใช้โปรแกรม GSP ของโรงเรียนต่าง ๆ พบว่า โปรแกรมนี้ทำให้ครูและนักเรียนมีเวลาในการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลานานในการสร้างรูปเรขาคณิตจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีต่าง ๆ อีกทั้งยังทบทวนได้ง่ายและบ่อยขึ้น การสอนด้วยโปรแกรม GSP ยังทำให้นักเรียนเรียนได้สนุก เข้าใจได้เร็ว และน่าตื่นเต้น นอกจากนั้นการใช้ GSP สร้างสื่อการสอนและใบงาน ยังทำได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศอื่น ๆ สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว (animation) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่ยาก ๆ เช่น ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย และโปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียน การสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะอย่างไม่มีข้อจำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ