รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 28, 2010 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน” นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวที่ร้อยละ 28.5 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในแทบทุกหมวดสินค้าส่งออกและแทบทุกตลาด เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.3 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.6 ต่อปี” นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต ในเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี เนื่องมาจากยอดคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553 จะสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี” รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ เอกสารแนบ รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2553 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 1. การส่งออกขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้าส่งออกและแทบทุกตลาด ผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 28.5 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเช่นกัน สอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ 17.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวที่ร้อยละ 35.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี โดยเป็นผลจากการปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ทั้งนี้ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2553 เกินดุลต่อเนื่องที่ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 39.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 42.7 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยอยู่ที่ระดับ 70.3 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมเป็นสำคัญ 3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนได้จากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพานิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 37.3 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 85.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 61.2 ต่อปี สะท้อนการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ิอย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี 4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 223.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายประจำมีจำนวน 196.4 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.2 และ 2) รายจ่ายลงทุนมีจำนวน 10.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 101.7 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำของรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณที่แล้ว จากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่แล้วมีผลบังคับใช้ล่าช้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนพฤศจิกายน 2553 เท่ากับ 7.8 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เท่ากับ 251.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.8 ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) จัดเก็บได้ 144.6 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ในระดับสูง 5.เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี จากยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ระดับ 99.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.7 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศหลังจากสถานการณ์อุทกภัยและการเมืองเริ่มคลี่คลาย สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ 1.47 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคบริการจากการท่องเที่ยว ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2553 หดตัวลดลงที่ร้อยละ -4.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง ผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2553 ยังขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.5 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 16.9 ต่อปี 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผักและผลไม้เป็นหลัก เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี เท่ากับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.43 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 168.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.8 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ