Cloud Computing and GIS

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday December 28, 2010 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--กลุ่มบริษัทซีดีจี ในระหว่างที่โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทางด้านการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ก็มีวิวัฒนาการของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยปราศจากข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายเช่นกัน โลกของการใช้คอมพิวเตอร์ในวันนี้จึงกำลังจะก้าวไปสู่รูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลาย ๆ ที่และในเวลาเดียวกันด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ผ่านอินเตอร์เน็ต และนำงานหลายร้อยงานมาวิ่งในเครื่องเหล่านั้น เทคโนโลยีที่กำลังกล่าวถึงนี้ ถูกเรียกว่า “Cloud Computing (คลาวด์ คอมพิวติ้ง)” ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากที่ใดก็ได้ในโลก … วันนี้ผู้ที่ทำงานในแวดวงไอทีคงจะเคยได้ยินการพูดถึง “เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย และคงเริ่มเห็นถึงอิทธิพลของก้อนเมฆกลุ่มนี้แล้วว่าเข้ามามีบทบาทกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดจนด้านธุรกิจอย่างไร ...ลองจินตนาการ จะดีแค่ไหน หากเราสามารถทำงาน สนทนา หรือมีปฏิสัมพันธ์กับทุกคน ได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะผ่านจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้งในรูปแบบการบริการแบบสาธารณะและแบบส่วนบุคคล เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกมุมโลกที่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ตราบเท่าที่เรามียูสเซอร์ (User) และพาสเวิร์ด (Password) เราก็จะได้รับบริการข้อมูลที่มหัศจรรย์ราวกับว่าโลกทั้งโลกเป็นของเรา อยากได้อะไร มันก็หลั่งไหลลงมาราวกับลงมาจากท้องฟ้า ด้วยโครงสร้างไอทีขนาดใหญ่ที่ขยายตัวได้ไม่จำกัด นั่นคือที่มาของคำว่า “คลาวด์” หรือ “ก้อนเมฆ” แนวความคิดทางด้านการประมวลผลแบบใหม่ที่เก็บเอาบริการต่างๆ ไว้มากมายให้เราเลือกได้ตามต้องการ แนวความคิดของ คลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นการเข้าใช้บริการจากระบบคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่กระจายการให้บริการอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านตัวกลางคือบราวน์เซอร์ (Browser) โดยที่ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมายในการจัดการทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที จุดเด่นของคลาวด์ คอมพิวติ้ง คือ การให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้และคิดค่าบริการตามที่ใช้งานจริง หรือที่เรียกว่า On Demand โดยผู้ใช้บริการสามารถล็อกอิน (Login) เพื่อขอใช้บริการจากระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งของผู้ให้บริการ ผ่านทางอุปกรณ์หรือเครื่องมือเชื่อมต่อต่าง ๆ จึงนับว่าเป็นการลดต้นทุนทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ค่าลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทางด้านไอที ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้งานที่มีความต้องการในการใช้งานที่ไม่เท่ากัน จะช่วยให้ประหยัดด้านการลงทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การใช้งาน (Multi-Tenancy) รวมถึงช่วยลดภาระการจ้างบุคลากรผู้ดูแลระบบ เพราะคลาวด์ คอมพิวติ้งได้รับการออกแบบการบริการให้มีความยืดหยุ่นสามารถจัดการหรือปรับเปลี่ยนคุณสมบัติได้ง่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ งาน และไม่จำเป็นต้องใช้วิศวกรที่มีความสามารถสูง ทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจทุกขนาดเข้าถึงได้ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ด้วยประโยชน์ของการใช้บริการบนเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง นี้เอง ทำให้ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจและนำคลาวด์ คอมพิวติ้งไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตน จากบริการบนระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น บริการเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือน พร้อมพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Infrastructure as a service) บริการซอฟต์แวร์ออนไลน์นานาชนิด (Software as a service) ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรไอทีขนาดใหญ่มาก เป็นต้น ซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS: Geographic Information System) ก็เป็นซอฟต์แวร์หนึ่งที่ก้าวไปอย่างควบคู่กับกระแสการเปลี่ยนแปลงหรือเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งเนื่องด้วย GIS เป็นระบบสารสนเทศอีกประเภทที่ซอฟต์แวร์ต้องการการประมวลผลแบบขั้นสูง และต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมาทำการประมวลผลและใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีจำนวนมากและมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน จึงต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีค่อนข้างสูง ดังนั้น คลาวด์ คอมพิวติ้ง จึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการเข้าถึง GIS ได้ง่ายขึ้น ด้วยการลงทุนที่ไม่มาก การบริการ GIS ในระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ได้เปิดให้บริการทั้งในส่วนซอฟต์แวร์ประมวลผล โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และแอพพลิเคชั่น โดยผู้ใช้งานสามารถขอใช้บริการได้ตามความต้องการและความเหมาะสม (On Demand) ทั้งยังมีความยืดหยุ่นและสามารถเชื่อมโยงระบบ GIS เข้ากับระบบสารสนเทศที่ใช้ภายในหน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้ GIS ในคลาวด์ คอมพิวติ้ง จะยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณค่าการทำงานให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น ด้วยความสามารถของซอฟต์แวร์ ArcGIS 10 ผู้ใช้บริการจะสามารถเช่าหรือใช้บริการเพื่อค้นหาหรือแบ่งปันข้อมูลแผนที่ รวมทั้งบริการอื่น ๆ ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และจากคุณสมบัติของ GIS คลาวด์ คอมพิวติ้ง นี้เอง ทำให้เกิดกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ที่เป็นหน่วยงานขนาดกลางถึงขนาดเล็กและบุคคลทั่วไป ทั้งยังเปลี่ยนรูปแบบการส่งข้อมูลรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลาโดยผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลทั่วไปเป็นผู้ส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้นำตลาดทางด้านแผนที่และเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ได้เล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง และความสำคัญในการปรับตัวเข้าสู่รูปแบบธุรกิจการบริการ GIS คลาวด์ คอมพิวติ้งเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานขนาดกลางถึงขนาดเล็กตลอดจนบุคคลทั่วไปเข้าถึงบริการนี้ได้ โดยการจัดหาสินค้าและบริการให้แก่ผู้ใช้งานจะเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ จากเดิมที่ผู้ใช้บริการจะต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นการเช่าใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ซึ่งหมายถึงเช่าใช้ระบบ GIS บนคลาวด์ คอมพิวติ้งแทน ทั้งนี้ อีเอสอาร์ไอเตรียมพร้อมให้บริการ GIS คลาวด์ คอมพิวติ้ง และยังขยายการให้บริการแผนที่ทางเว็บ (Map Service) ด้วยชุดข้อมูลแผนที่ฐานดิจิตอลประเทศไทย “CDG Map” ที่มีข้อมูลสถานที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น สถานที่ราชการ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการอีกทางหนึ่ง อันจะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SME ที่จะสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงเช่นที่ผ่านมาเพียงสมัครเป็นสมาชิกผู้ใช้งานจะสามารถใช้บริการต่าง ๆ ที่อีเอสอาร์ไอให้บริการได้ อันได้แก่ บริการแผนที่เพื่อกำหนดเส้นทางสายส่ง หรือกำหนดเส้นทางของทีมเซอร์วิส ทำให้การจัดระบบการขนส่งหรือเซอร์วิส มีความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ทรัพยากรของโลกที่ต้องการแชร์ทุกอย่างร่วมกันเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่า ทั้งยังสามารถแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เนื่องด้วยราคาซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้างสูง และปัญหาความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่ฟังก์ชั่น การใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ที่มีโครงสร้างการประมวลผลขนาดใหญ่ด้วยการแบ่งปันทรัพยากรในการประมวลผลร่วมกันบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมากบนเครือข่ายผ่านบราวน์เซอร์ และผู้ใช้งานจ่ายค่าบริการการใช้หน่วยประมวลผลตามการใช้งานจริง คอมพิวเตอร์จึงเป็นเสมือนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่องค์กรหรือหน่วยงานสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้โดยไร้ข้อจำกัด จากแนวโน้มการเติบโตนี้ ในอนาคตผู้ใช้งานจะมีโอกาสได้เห็นบริการฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์บน GIS คลาวด์ คอมพิวติ้งอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดย GIS คลาวด์ คอมพิวติ้ง จะช่วยสนับสนุนการทำงานขององค์กรได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ