กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ปชส.จร.
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมาว่า การเจรจาระบบสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (The Global System of Trade Preferences Among Developing Countries : GSTP) เป็นการเจรจาในกรอบของ UNTAC เพื่อส่งเสริมและขยายการค้าของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีประเด็นการเจรจาหาข้อตกลงเกี่ยวกับการลดภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี และการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะได้รับข้อลดหย่อนภาษี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนตารางข้อผูกพัน
ล่าสุดมีประเทศที่แสดงความจำนงเข้าร่วมเจรจา 22 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา อิหร่าน อียิปต์ โมรอคโค ไนจีเรีย ซิมบับเว เม็กซิโก คิวบา ชิลี อุรุกวัย ปารากวัย บราซิล อาร์เจนตินาและแอลจีเรีย
ปัจจุบัน GSTP อยู่ระหว่างการเจรจารอบที่ 3 ซึ่งเริ่มการเจรจามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยมีเป้าหมายในการเจรจาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง คือ เพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี และเม็กซิโก ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่สมาชิก GSTP ส่วนใหญ่ยังคงมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งหากไทยสามารถเจรจาปรับลดภาษีนำเข้าได้สำเร็จ จะทำให้ไทยสามารถขยายการค้าไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นและช่วยลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้ ส่วนเป้าหมายทางการเมือง คือ GSTP เป็นการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น
การเจรจารอบนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจรจาด้านกฎเกณฑ์และกลุ่มเจรจาเปิดตลาดสินค้า ที่จะพิจารณาเรื่องรูปแบบการลดภาษีและการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ สำหรับเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าจะพิจารณากันใน 3 เรื่อง คือ 1. ทำอย่างไรจึงได้แหล่งกำเนิดสินค้า 2. กระบวนการออกหนังสือรับรองรายละเอียดการปฎิบัติ และ 3. กระบวนการตรวจสอบ
“คาดว่าการเจรจาจะเสร็จภายในสิ้นปี 2550 ซึ่งหากสำเร็จและมีผลบังคับใช้จะส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกและประชาชนที่จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวทั้งในเชิงรับและเชิงรุก เพื่อที่จะได้สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะรายงานความคืบหน้าของการเจรจาโดยการจัดสัมมนาเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้น” นายวินิจฉัยกล่าว