กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์
จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการจัดหาพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้พลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการให้สัมปทานปิโตรเลียมจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมการพัฒนาปิโตรเลียม ทั้งการเจาะสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม จัดอยู่ในข่ายกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) เป็นผลทำให้มีความต้องการในการจัดทำรายงาน EIA สูงมากในแต่ละปี ในขณะที่นิติบุคคลผู้มีสิทธิ์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการจัดทำรายงานประเภทดังกล่าวมีจำนวนจำกัด รายงานฯ ที่จัดทำขึ้นขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมและต้องพิจารณาหลายครั้งหลายครา
วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเดินหน้าและพัฒนาให้ทันกับความต้องการด้านพลังงานที่มีอยู่ของประเทศ นั่นก็คือการจัดทำรายงาน EIA ที่มีเนื้อหาในรายงานถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณารายงาน EIA จากนั้นจึงสามารถยื่นขออนุมัติอนุญาตจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด
ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ สผ. สถาบันปิโตรเลียม และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีแนวทางเฉพาะด้านที่เป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำมาใช้ในการศึกษา และดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน จึงกลายเป็นที่มาของการจัดทำคู่มือการจัดทำรายงาน EIA ขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สผ.ได้ร่วมมือกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัทผู้รับสัมปทาน และบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน จัดทำคู่มือ EIA เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดทำรายงานให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพอนามัยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายอนุมัติโครงการ ผู้ประกอบการ บริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน และประชาชนในพื้นที่
“การพัฒนาจะต้องควบคู่ไปกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกหรือกระบวนการที่เป็นระบบ คู่มือ EIA สำหรับโครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล ได้มีการกำหนดเนื้อหาและแนวทางตามหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการตระหนักและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมิได้มุ่งหวังเพียงแต่ต้องการให้รายงานผ่านความเห็นชอบและใช้ประกอบการขออนุญาตดำเนินโครงการเท่านั้น”
เลขาธิการ สผ. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงาน จะได้มีแนวทางการทำรายงานที่ครอบคลุมและเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยให้ขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ มีระยะเวลาสั้นลง และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถเชื่อมั่นได้ว่าการจัดทำรายงานเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
นายทรงภพ พลจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและเป็นผู้อนุญาตการดำเนินงานทางด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวถึงประโยชน์ของคู่มือที่ได้มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมว่า ภายใต้กรอบมาตรฐานในคู่มือที่มีการจัดทำอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และยึดสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางจะช่วยทำให้แต่ละองค์กรสามารถพัฒนาให้รายงานครบถ้วนได้มากขึ้น ดังนั้นรายงานที่มีคุณภาพที่มีการกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างครอบคลุมและเหมาะสม ที่จัดทำขึ้นตามกรอบในคู่มือที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการยอมรับในการดำเนินการและการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กล่าวว่า การปรับปรุงการจัดทำ EIA ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจหลักการและเหตุผลทางวิชาการ รวมถึงข้อกังวลของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการจะสามารถตรวจสอบข้อมูลซึ่งบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงานนำเสนอไดครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น เนื่องจากมีหลักการและรายละเอียดที่ระบุไว้อย่างชัดเจน
“การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนร่วม จะนำไปสู่การจัดทำรายงานที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งมั่นใจได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามการประกอบการที่ดี”
หลังจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ EIA ขานรับคู่มือฯ ดังกล่าว เชื่อว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมคงจะพัฒนาขึ้น โครงการต่างๆ ที่กำลังรอการพิจารณา หรือแม้แต่โครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา จะมีแนวทางในการทบทวนและจัดทำรายงานด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่โดยอาศัยกรอบเครื่องมือภายในคู่มือฯ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทำให้สามารถเดินเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าได้ปีละมหาศาลเลยทีเดียว