กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายราชศักดิ์ สุเสวี อดีตประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บมจ. เพาเวอร์-พี เพิ่มเติม ในความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กรณีมีการกระทำเข้าข่ายเป็นการตกแต่งรายได้รวม 34 ล้านบาทในงบการเงินที่ใช้เพื่อนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดปกติ ในปี 2548 และการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริต ยักยอกเงินของ บมจ. เพาเวอร์-พี ออกไปอีกหลายรายการรวม 310ล้านบาท โดยมีบุคคลอีก 3 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวในธุรกรรมที่แตกต่างกัน และ ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษไปพร้อมกัน คือ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน นายพงษ์ศักดิ์ คงปัญญากุล อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการเงินและการบัญชีของ บมจ. เพาเวอร์-พี ผู้ร่วมกระทำการ และนายคมกริช ลือจรรยา ผู้สนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมตกแต่งรายได้ดังกล่าวบางรายการ
สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายราชศักดิ์และพวก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีตกแต่งรายได้จำนวน 10.5 ล้านบาท ในงบการเงินประจำปี 2547 ที่ใช้แสดงในการขอย้ายหลักทรัพย์ออกจากหมวดบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (Rehabco) ให้กลับเข้าไปซื้อขายในหมวดอุตสาหกรรมปกติในปี 2548 กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมและพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเพิ่มเติม และมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดเพิ่มเติมอีก 3 รายการ ดังนี้
1. การตกแต่งรายได้ในงบการเงินประจำปี 2547 รวม 34 ล้านบาท ซึ่งจากการสอบสวนน่าเชื่อว่ามิได้เป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อรวมรายการที่เคยกล่าวโทษไปแล้ว 10.5 ล้านบาท รายได้ที่ตกแต่งดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ 85.61 ล้านบาทที่แสดงไว้เดิม และจะทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่แสดงไว้เดิม 25 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นขาดทุนประมาณ 19 ล้านบาท โดยธุรกรรมที่แสดงเป็นรายได้ดังกล่าว ส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับนายสุริยา ซึ่งมีหลักฐานน่าเชื่อว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
การเข้าฟื้นฟูกิจการ และการถือหุ้นใน บมจ. เพาเวอร์ พี
2. การทุจริต ยักยอกเงินออกจาก บมจ. เพาเวอร์-พี โดยอำพรางผ่านการจ่ายเงินทดรองจ่ายให้แก่บริษัทคู่ค้า จำนวน 4 รายการ รวม 265 ล้านบาท โดยมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากรายการดังกล่าวคือผู้ที่เกี่ยวข้องของนายสุริยา
3. การทุจริตยักยอกเงินออกจาก บมจ. เพาเวอร์-พี โดยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ และให้ บมจ. เพาเวอร์ พี จ่ายเงินมัดจำค่าซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งสูงกว่าความเป็นจริง 45 ล้านบาท ซึ่งจากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากรายการดังกล่าวคือ นายราชศักดิ์
การกระทำข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 314 หรือมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษนายราชศักดิ์ กับพวก รวม 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป