กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--กบข.
กบข.มองเศรษฐกิจโลกในปี 2554 ยังคงมีความเสี่ยงและขยายตัวในระดับต่ำกว่าปี 2553 เหตุอเมริกายังคงมีปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงรวมถึงยุโรปยังมีปัญหาหนี้สาธารณะ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว ยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะใช้มาตราการการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขับ ชี้ประเทศไทย GDP อยู่ที่ 4-4.5%รับอานิสงส์การบริโภคและการลงทุนที่ดีขึ้น
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในปี 2554 มองเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือประเทศพัฒนาแล้วมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำและยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น สหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปยังมีปัญหาหนี้สาธาณะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงจากปี 2553
สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว คาดว่ายังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปและการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
“ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยจะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดซึ่งเศรษฐกิจไทยในปี 2554 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2553 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554 ของประเทศไทยจะอยู่ประมาณ 4-4.5% โดยมีปัจจัยหนุนคือการบริโภคและการลงทุนที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกทรงตัวในเกณฑ์ดีและอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3-4.0%”นางสาวโสภาวดี กล่าว
อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องและการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอีกประมาณ 0.75-1.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในปี 2554 จะปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับ 2.75-3.25% คาดว่าจะยังมีเงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยโดยอัตราค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 29.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากปี2553 ที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเฉลี่ย 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เกี่ยวกับ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข.เป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัจจุบัน กบข.มีสมาชิกกว่า 1.2 ล้านคน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 485,000 ล้านบาท
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสมาชิก ปุณยนุช จันทศร / ปิยะณัฐ สวนอภัย โทร. 02 636 1000 ต่อ 263 / 254