กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สปส.
นับจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้บริสุทธิ์ เสียชีวิตไปแล้วจำนวนกว่า 2,000 คน และโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมานี้ พบยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว จำนวน 109 รายและ เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 52 ราย
ในการเยียวยา รักษาผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น โลหิต เป็นสิ่งจำเป็นมาก ปัจจุบันในแต่ละวันสภากาชาดไทยต้องส่งโลหิตลงใต้ประมาณวันละ 100 ยูนิต เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบ
ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้ทำหน้าที่รณรงค์และจัดหาโลหิตบริจาค จากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้โลหิตในการรักษาพยาบาล ด้วยโรคต่างๆ โดยมีปริมาณความต้องการโลหิตปีละประมาณ 2,100,000 ยูนิต ซึ่งแบ่งเป็นการใช้ในกรุงเทพฯ จำนวน 500,000 ยูนิต และใช้ในต่างจังหวัดจำนวน 1,600,000 ยูนิต
แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ พิกุลสด รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย กล่าวถึงปริมาณความต้องการโลหิตในขณะนี้ว่า
“ หลังจากปีใหม่เป็นต้นมา มีผู้บริจาคน้อยลง เราต้องหาโลหิตทุกวันเช้าถึงค่ำ วันไหนน้อยลงก็จะถึงขั้นวิกฤต เราก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้คนมาบริจาค ก็ได้เลือดส่งไปทางใต้ทุกวันเฉลี่ยวันละ 100 ยูนิต ส่งไปไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อบรรเทาความขาดแคลน”
“โดยเฉลี่ยแล้วกรุ๊ปเลือดคนไทยจะใกล้เคียงกัน กรุ๊ปที่หายากที่สุดคือ เอบี และ โลหิตหมู่พิเศษ Rh —nagative อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตอนนี้ขาดแคลน 25 % ซึ่งเป็นเลือดที่หายไปจากกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่เคยมาบริจาคเนื่องเป็นช่วงจากเตรียมสอบเอ็นท์ทรานซ์ มหาวิทยาลัยเริ่มปิด เราต้องเตรียมเลือดสำรองไว้ ”
โครงการ “ทำดีถวายพระเจ้าอยู่หัวด้วยการบริจาคโลหิต” จึงเกิดขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะขาดแคลนโลหิต โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จังหวัดปทุมธานี และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยเริ่มนำร่องที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก (สถานประกอบการ 9,978 แห่ง มีผู้ประกันตนจำนวน 400,392 คน)และได้มีโครงการบริจาคโลหิตในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องมาตลอด แต่ยังบริจาคในจำนวนจำกัดและเฉพาะกลุ่ม โครงการนำร่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริจาคโลหิตเพิ่มขึ้นตามแนวทางของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยโครงการนี้จะขยายผลสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงโครงการ ทำดีถวายพระเจ้าอยู่หัวด้วยการบริจาคโลหิต ว่า “หากปีหนึ่งได้ผู้บริจาค 2 ล้านคน ก็จะได้โลหิตตามเป้าที่หวังไว้ ตอนนี้โลหิตขาดแคลนจึงต้องมีการระดมโลหิตเก็บไว้ ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ผู้ประกันตน เป็นจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศใน 7 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน กลุ่มคนเหล่านี้นับเป็นขุมพลังสำคัญของประเทศ ในการกอบกู้วิกฤตของบ้านเมืองที่กำลังขาดแคลนโลหิต ในฐานะเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงอยากขอความร่วมมือจากสถานประกอบการและผู้ใช้แรงงาน ให้มาร่วมทำมหากุศลด้วยการบริจาคเลือด และนับเป็นอีกหนึ่งวิธี ในการทำความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในพุทธศักราช 2550 อีกด้วย ”
วันที่ 19 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา โครงการนำร่องซึ่งจัดขึ้นที่ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งมีสถานประกอบการภายในนิคมกว่า 300 แห่ง มีลูกจ้างกว่า 200,000 คน ได้ยอดบริจาค กว่า 315 ราย ถือว่าทะลุเป้า และนับเป็นก้าวแรกที่น่าพอใจ ก้าวต่อไปจะขยายผลสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยร่วมกับโครงการ รวมพลังไทย เทิดไท้องค์ราชัน ในวันที่ 23 เมษายน 2550
และนี่คือหลายเสียงจากผู้ประกันตนที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จ.ปทุมธานี ซึ่งได้โลหิตต่อชีวิต ให้ยืนยาวมาจนทุกวันนี้
นายพิพัฒน์ วงศ์ทับทิม ในอดีตช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศ บริษัทซอเมอร์วิลล์ (สยาม)จำกัด เล่าว่า “ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนกับรถบรรทุก 10 ล้อ ตอนนั้นบาดเจ็บสาหัสต้องใช้เลือดกว่า 10 ถุง และต้องรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลกว่า 5 เดือน ผมต้องขอขอบคุณสภากาชาดไทยมากครับที่ทำให้ผมมีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้”
ปัจจุบันพิพัฒน์ เป็นผู้ประกันตนทุพพลภาพ และกำลังฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี จากการบอกเล่าของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพจึงได้ทราบว่า การเข้ารับการรักษาในช่วงของนาทีวิกฤตนั้นจะได้รับโลหิตจากโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพการบาดเจ็บของแต่ละคน บางคนในปัจจุบันร่องรอยของการบาดเจ็บมองว่าน่าจะใช้โลหิตในการรักษาอาการบาดเจ็บไม่มาก แต่ในความเป็นจริงต้องใช้โลหิตในการรักษาเป็นจำนวนมาก ดังเช่นในกรณีของนายบังอร เทพรักษา ที่เกิดอุบัติเหตุในโรงงานขณะหยิบเศษไม้ทำให้ฟันเฟืองของเครื่องจักร ดึงมือเข้าไปในเครื่อง จนต้องทำให้สูญเสียมือไป ขณะนั้นแพทย์ต้องให้โลหิต จำนวน 8 ถุง หากไม่มีโลหิต นายบังอร คงจะมีปัญหาในการรับการรักษาแน่นอน ส่วนผู้บาดเจ็บรุนแรงความจำเป็นก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ
“ ถ้าไม่เลือดจากสภากาชาดผมคงแย่ เนื่องจากช่วงผ่าตัดผมเสียเลือดมากครับ ก็ขอเชิญชวนให้ทุกคนมาบริจาคเลือดกันเยอะๆ นะครับ เผื่อวันข้างหน้าถ้ามีใครประสบเหตุอย่างผม ก็จะได้รับเลือดอย่างทันท่วงที ”
คงเห็นแล้วว่าโลหิตเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการช่วยเหลือคนไข้ในช่วงนาทีวิกฤต ประชาชน ผู้ประกันตนท่านใดอยากมีส่วนร่วมในการทำทานอันยิ่งใหญ่เพื่อช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ สามารถบริจาคโลหิตเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ กรุงเทพฯ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 /www.sso.go.th
ผลิตโดย น.ส.เรณุกาชลี คำนวนสิน วันที่ 26 มี.ค.2550