สสส. จับมือ มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดงหนุนองค์กรเยาวชนสร้างสันติสุขแดนใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday January 4, 2011 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้อันประกอบไปด้วย ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยยังมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2.5 ราย และยังส่งผลให้เกิดเด็กกำพร้าในพื้นที่มากกว่า 5,000 คน ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีเยาวชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือเพราะมีฐานะยากจน ว่างงาน ไม่มีอาชีพ เยาวชนกลุ่มนี้จึงมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการถูกชักจูงให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดและแนวร่วมก่อความไม่สงบได้โดยง่าย มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง เป็นองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนรักบ้านเกิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นบนดินแดนด้ามขวานภายใต้แนวคิดที่เรียบง่าย “แก้ปัญหาชายแดนใต้ ให้กลับมาเป็นเพื่อนเหมือนในอดีต” โดยได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ อย่างมากมาย มีโครงการหลักสำคัญอันจะช่วยเสริมสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นคือ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนระดับ อบต. ด้านดนตรี กีฬาและศิลปะ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า การทำงานต่างๆ ร่วมกับเยาวชนจะสามารถช่วยเสริมสร้างสันติสุขและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ เนื่องจากการวางแผนครอบครัวไม่ได้รับความนิยม ทำให้มีอัตราการเกิดของประชากรสูงถึงร้อยละ 3-4 แต่ละครอบครัวจึงมีลูกมาก และฐานะทางครอบครัวค่อนข้างยากจน เยาวชนจึงเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ แต่เยาวชนส่วนใหญ่ไม่นิยมเรียนหนังสือ โดย จบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น “จุดหลักที่เป็นปัญหาของเยาวชนในพื้นที่ก็คือ เมื่อไม่มีงานทำให้ว่าง ไม่มีรายได้ และเป็นครอบครัวที่เหลือแม่เพียงคนเดียวจำนวนมาก เด็กกลุ่มนี้จึงรวมกลุ่มกันโดยใช้ยาเสพติดในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ประกอบกับคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่น ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องก็จะเป็นการยิ่งผลักดันให้เด็กเหล่านี้เข้าไปอยู่กับกลุ่มของเขามากยิ่งขึ้น ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าเมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าไปติดยาก็จะมีบางส่วนที่จะถูกชักนำไปในทางที่ไม่ดีได้ไม่ยาก จึงได้ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมกับทางมูลนิธิฯ ซึ่งจากการทำงานในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2547 พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่เป็นคนดี ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครเขาว่ากัน และมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ทุกๆ เรื่อง ซึ่งถ้าเราช่วยกันอย่างจริงจังโดยเปิดโอกาสให้ เยาวชนเหล่านี้ก็จะสามารถเป็นผู้นำและช่วยเสริมสร้างสันติสุขและแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้” ดร.รุ่งกล่าว โดยทางมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง จะชักชวนเยาวชนจำนวน 12 คนจาก อบต.ต่างๆ ให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการจัดตั้งองค์กร การบริหารองค์กร สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด การเป็นผู้นำและมีจิตสาธารณะตามหลักอิสลาม ก่อนนำไปขยายผลหาสมาชิกเพิ่มในชุมชน โดยใช้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นเครื่องมือในการนำความสุขกลับคืนมาสู่ชุมชนและท้องถิ่น ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันที่จะสร้างให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเยาวชนทั้งไทยพุทธและมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายอัมราน มอสู ประธานองค์กรเยาวชนอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในอำเภอแม่ลานปัจจุบันมีสมาชิกองค์กรประมาณ 290 คน มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 13-28 ปี โดยองค์กรเยาวชนแต่ละกลุ่มในพื้นที่จะนำกิจกรรมต่างๆ มาขับเคลื่อนการทำงานโดยให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น “วันนี้เยาวชนในพื้นที่รู้จักการบริหารจัดการ นำเอาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด จากการทำงานที่ผ่านมาทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ในด้านวัฒนธรรม เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง เกิดความคิดที่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งเราพบว่าเยาวชนมีพลังขับเคลื่อนที่มากมายถ้าหากเราไม่สนับสนุนเขาก็ใช้ไปในทางที่ผิดก็จะสูญเปล่า แต่ถ้าให้นำพลังเหล่านี้มาช่วยเหลือชุมชน สังคมก็จะให้การยอมรับ เยาวชนก็จะมีความรักและความภูมิในบ้านเกิดของตนเอง” นายอับรานกล่าว นางสาวรอกีเย๊าะ กาเซ็ง หรือ “น้องเย๊าะ” ประธานองค์กรเยาวชนตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เล่าว่าได้เข้ามาร่วมทำงานกับทางมูลนิธิฯ ประมาณ 1 ปี โดยนำการแสดงพื้นบ้าน “ดิเกร์ฮูลู” มาเป็นเครื่องมือในการชักชวนเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร “ปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่คือใช้เวลาว่างไปเข้ากลุ่มเพื่อนและชักชวนกันไปในทางที่ไม่ดี แต่พอได้เข้าร่วมโครงการและออกไปชักชวนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็พบว่าน้องๆ ทุกคนมีความตั้งใจที่จะฝึกซ้อม มีความฝันและรักที่จะได้แสดงออกถึงความสามารถของเขาให้คนอื่นได้เห็นและยอมรับ โดยจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาฝึกซ้อม แต่ตอนนี้การแสดงดิเกร์ฮูลูได้ถูกชะลอเอาไว้ เพื่อให้ทางผู้บริหารท้องถิ่นและทางมูลนิธิได้ทำความเข้าใจกับทางผู้นำศาสนาให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำกิจกรรมนี้ซึ่งถึงแม้ว่าจะขัดกับหลักศาสนาอยู่บ้าง แต่มีผลดีกับชุมชนและเยาวชนมากกว่า แต่เราก็ไม่ท้อเพราะได้กำลังใจจากเพื่อนๆ ในตำบลอื่นๆ” น้องเย๊าะกล่าว ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาเยาวชนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศปัจจุบันกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างวิกฤติ เพราะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งปัญหาในด้านของสื่อ ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ยาเสพติดฯลฯ โดยเฉพาะพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งมีความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น เพราะมีเรื่องของวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องและความแตกต่างของการพัฒนากับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ “งานด้านเด็กและเยาวชนเป็นงานที่ทาง สสส. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเราได้เล็งเห็นว่าพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือพลังของเยาวชน ที่สามารถเชื่อมโยงจิตใจของคนทุกคนเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายหรือแบ่งวัฒนธรรม ดังนั้นเยาวชนจึงเป็นความหวังของของคนไทยทุกๆ คน ถ้าเยาวชนในประเทศของเรารู้วิธีการที่จะนำพลังเหล่านี้มาใช้ให้ถูกต้องโดยเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ชุมชนและท้องถิ่นได้ สังคมก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นและจะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ ทุกเรื่องในประเทศได้” ผู้จัดการ สสส.กล่าวสรุป
แท็ก สสส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ