เทศบาลนครยะลา เร่งขยายผล “ยะลาโมเดล” สสส.หนุนพัฒนาเครือข่าย อบท.สร้างสุขภาวะแดนใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday January 4, 2011 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาชุมชน เนื่องจากท้องถิ่นมีความเข้าใจปัญหาและรับรู้ถึงความต้องการด้านต่างๆ ของชุมชนในท้องถิ่นของตนเองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาสุขภาวะของเด็กและเยาวชน เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันล้วนมีสาเหตุพื้นฐานมาจากปัญหาทางครอบครัว ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญของท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติต่อไปในอนาคต และจะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ทาง เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อสร้างสุขภาวะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นโดยร่วมกับเทศบาลจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ขยายผลแนวคิด “ยะลาโมเดล” ออกไปสู่ท้องถิ่นผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสุขภาวะ สร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุว่าทุกวันนี้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายส่วนเกิดขึ้นมาจากปัญหาในภาคของเยาวชน การทำงานของทางเทศบาลฯ จึงเน้นหนักไปในเรื่องเยาวชน เพราะว่าเยาวชนจะมีบทบาทสำคัญต่อไปในอนาคตในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฐานรากของประเทศในวันนี้สิ่งสำคัญคือเยาวชนที่จะเติบโตไปในวันข้างหน้า หากผู้นำในวันนี้ส่งผ่านประเทศให้กับเยาวชนที่ไม่มีคุณภาพอนาคตของประเทศก็คงมืดมน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเยาวชนสูง หลายคนถูกชักจูงในทางที่ผิด เราจึงต้องปลูกฝังและสร้างจากเยาวชนขึ้นไปตั้งแต่ตอนนี้เพื่อให้เขาได้เป็นคนดูแลบ้านเมืองในอนาคตต่อไป “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ มีเป้าหมายว่าในปีแรกต้องขยายเครือข่ายออกไปให้ได้จำนวน 4 แห่ง ซึ่งเครือข่ายที่เราได้ดำเนินงานไปแล้วก็คือ เทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี ปัตตานี, เทศบาลตำบลรือเสาะ อ.รือเสาะ นราธิวาส, เทศบาลตำบลยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา และเทศบาลตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยแต่ละแห่งจะเข้ามาเรียนรู้วิธีการต่างๆ จากเทศบาลนครยะลา โดยมี TK Park จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในต้นแบบของกิจกรรมการเรียนรู้ แล้วก็จะนำกลับไปประยุกต์ใช้ออกแบบโครงการหรือกิจกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นของตนเองและจากปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นเราจึงต้องสร้างเรื่องของความสมานฉันท์ การเสริมสร้างสันติสุขที่จะทำให้พี่น้องที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยทำกิจกรรมครอบคลุมทุกเรื่องที่ต้องการทั้ง จิตสาธารณะ จิตสำนึกรักบ้านเกิด และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว โดยเทศบาลนครยะลา จะมอบหมายให้แต่ละพื้นที่เป็นคนคิดและจัดกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องของชุมชน และดำเนินการจัดฝึกอบรมทีมวิทยากรให้กับตัวแทนของพื้นที่ในปีแรก โดยเน้นไปที่หลักสูตรสาระการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ หลักสูตรทักษะชีวิตรอบด้าน, การฝึกฟุตบอลขั้นพื้นฐาน, การส่งเสริมคุณธรรมเพื่อสำนักรักบ้านเกิด, การส่งเสริมการอ่านและทักษะการเรียนรู้ ฯลฯ หลังจากนั้นในปีที่ 2 เทศบาลทั้ง 4 แห่งจะต้องขยายลูกข่ายออกไปอีก 3 แห่ง เมื่อครบ 3 ปีก็จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึง 12 แห่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ของตนเอง “โครงการนี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง อันจะนำไปสู่การขยายผลการดำเนินงานอื่นๆ ต่อไป โดยจุดเด่นของเทศบาลนครยะลาก็คือการสร้างและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนผูกพันกับบ้านเกิด ปลูกฝังความคิดการอยู่ร่วมกันของบนความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก และสลายความต่างระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งถือเป็นโมเดลในการทำงานของยะลา ที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ต่อไป” นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลากล่าวเสริม นายสามารถ สาเเละ นายกเทศมนตรีตำบลยะหา จังหวัดยะลา เปิดเผยว่ากิจกรรมหลักๆ ที่ทางเทศบาลจัดขึ้นเพื่อชักชวนเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด หรือการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องก็คือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะ “กีฬาฟุตบอล” และ “วอลเลย์บอล” ซึ่งเป็นกีฬาได้รับความนิยมจากเยาวชน รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก “ปัจจุบันเรามีเด็กและเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมทีมฟุตบอลจำนวน 25 คน และทีมวอลเลย์บอล จำนวน 30 คน ซึ่งเป็นความภูมิใจของทางเทศบาล เนื่องจากเราสามารถดึงเด็กกลุ่มนี้ที่เวลาหลังเลิกเรียนมักจะไปรวมตัวกันอยู่ที่ร้านเกมส์ให้ออกมาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ซึ่งในระหว่างที่มีการฝึกซ้อมและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะมีการปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐานทั้ง 8 ประการ โดยเน้นในเรื่องความความรักและความสามัคคี และทางเครือข่ายของเรายังจัดให้มีการจัดการแข่งขันระหว่างทีมของเทศบาลต่างๆ ก็ยิ่งช่วยทำให้เด็กและเยาวชนมีความตื่นตัวหันมาเล่นกีฬากันมากขึ้น” นายกเทศมนตรีตำบลยะหากล่าว ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า การทำงานร่วมกับเทศบาลนครยะลาเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความยากลำบากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศในเรื่องของการแก้ปัญหาด้านเด็กและเยาวชนที่ปัจจุบันกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างวิกฤติ “สสส.เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการขยายผลกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะการดึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานกับเยาวชน ครอบครัว และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มากขึ้น โดยปัจจุบันเราได้มีท้องถิ่นหลายแห่งที่เป็นต้นแบบนำร่องทำงานในด้านนี้เช่นเทศบาลนครยะลา ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าท้องถิ่นทุกแห่งจะต้องหันกลับมาคิดและทำงานเพื่อเยาวชนและทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น และสิ่งที่ สสส.อยากจะเห็นในพื้นที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็คือการพัฒนาในเรื่องของสุขภาวะ โดยมีการเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ที่ สสส.เข้ามาสนับสนุนให้เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อสุขภาวะที่มีความสอดคล้องกันมากขึ้น” ผู้จัดการ สสส.กล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ