กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--ไปรษณีย์ไทย
ไปรษณีย์ไทยเผยโฉมทีมผู้บริหารชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “ออมสิน ชีวะพฤกษ์” ประกาศ กลยุทธ์พัฒนาธุรกิจมูลค่าหมื่นล้านในปีหมูทอง รุกคืบทุกแนวรบสำคัญเพื่อสร้างหลักประกันอนาคต พร้อมปรับองคาพยพใหม่ให้ขับเคลื่อนองค์กรได้คล่องตัวขึ้น
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารตั้งแต่ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (2 ก.พ.) ว่า นโยบายการดำเนินกิจการในปัจจุบันจะเน้นทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรให้คล่องตัว สร้างความชัดเจนในการทำตลาด และตอบรับกับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ควบคู่ไปกับการจัดการบริหารเชิงพาณิชย์ ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบสนองต่อธุรกิจในอนาคต
ในปี 2550 ไปรษณีย์ไทยจะให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ไปรษณีย์ไทย พร้อมมุ่งเน้นการปรับปรุงจุดให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างครอบคลุมกว้างขวาง เช่น การเปิดบริการแบบไม่มีวันหยุด ขยายจุดบริการเพิ่มในย่านธุรกิจการค้าตามสำนักงาน ปรับปรุงรูปลักษณ์ที่ทำการไปรษณีย์ให้ดูทันสมัย เป็นมาตรฐานเดียวกัน กระทั่งแผนการตั้งร้านแฟรนไชส์ไปรษณีย์ต้นแบบที่จะเริ่มในไตรมาสที่ 2
“ขณะเดียวกันในปีนี้เราจะเร่งพัฒนาระบบไอทีให้ตอบสนองทั้งการบริหารจัดการ และรองรับ การให้บริการอย่างพอเพียง ตั้งแต่การวางแผนแม่บทไอที การปรับปรุงระบบธนาณัติออนไลน์ และ Pay at Post การเพิ่มศักยภาพของระบบติดตามและตรวจสอบสถานะการฝากส่ง หรือ Track&Trace ไปจนถึงการปรับปรุงระบบงานด้านบัญชีและการเงินให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP)” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดในปี 2550 ปณท มีแผนเปิดบริการใหม่ ๆที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะบริการแบบครบวงจร หรือ Total Mail Solution Service เพื่อให้บริการในลักษณะไดเร็กเมล์มากขึ้น ไปจนถึงการจัดสรรบริการแบบเฉพาะเจาะจง (Customized Service) แก่ลูกค้าตามแต่กรณี รวมทั้งบริการ Logispost ในการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กก. ขึ้นไปจะมีการเปิดตลาดอย่างเป็นรูปธรรมหลังจากทดลองมาระยะหนึ่ง
อนึ่งผลการดำเนินงานของ ปณท ในรอบปี 2549 มีรายได้อยู่ที่ 14,674 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 798 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2548 กว่าเท่าตัว รายได้ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมในโอกาสพิเศษหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี การเลือกตั้งส.ส. และวุฒิสมาชิก ตลอดจนไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 กิจกรรมลักษณะดังกล่าวค่อนข้างจำกัด จึงคาดว่าอัตราการขยายตัวของรายได้จะชะลอตัวอยู่ที่ 14,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1 % แต่กำไรสุทธิประมาณการไว้ที่ 933 ล้านบาท