สรุปผลงานโครงการไอพีสตาร์

ข่าวทั่วไป Monday January 22, 2007 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--ชินแซทเทลไลท์
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (“SATTEL”) เปิดเผยวันนี้ว่าบริษัทฯ ได้ทำการสรุปผลโครงการดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ นับตั้งแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
โครงการดาวเทียมไทยคม-4 หรือไอพีสตาร์ ได้ริเริ่มขึ้นโดย บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับป็นโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก และมีขนาดใหญ่ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ถึง 45 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ซึ่งสูงกว่าดาวเทียมปกติถึง 20 เท่า ดาวเทียมไทยคม-4 นับเป็นการพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลก โดยอาจกล่าวได้ว่า เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ซึ่งใช้เทคโนโลยีล่าสุด ที่ผ่านการพัฒนาและแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดจากเทคโนโลยีดาวเทียมแบบเดิม โดยใช้เทคโนโลยีบรอดแบนด์ซึ่งทำให้การรับ-ส่งสัญญาณข้อมูลทั้งภาพและเสียง สามารถกระทำได้อย่างมีคุณภาพ รวดเร็ว และประหยัด
สำหรับเทคโนโลยีของไอพีสตาร์ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักที่สำคัญ คือ ระบบดาวเทียม และระบบภาคพื้นดิน ได้แก่สถานีควบคุมเครือข่ายหรือเกตเวย์ และอุปกรณ์ปลายทางสำหรับผู้ใช้งาน โดยดาวเทียมไอพีสตาร์สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ถึงกว่า 10 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ผ่านทางสถานีควบคุมเครือข่ายไอพีสตาร์ (Gateway) จำนวน 18 สถานี ใน 14 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
บริษัทฯ ได้เริ่มออกแบบโครงการไอพีสตาร์ตั้งแต่ปี 2540 และได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของบริษัทคนไทยที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในระดับสากลได้ โดยบริษัทฯ และดาวเทียมไทยคม ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในการให้บริการดาวเทียมในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค
นอกจากนี้ โครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย จากหลายสถาบันในระดับนานาชาติ อาทิ รางวัล “2006 Industry Innovator for Technology Development and Application” ซึ่งเป็นรางวัลนวัตกรรมดีเด่นของวงการดาวเทียมโลก “ประเภทการพัฒนาเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่น” จากสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพดาวเทียมนานาชาติ (Society of Satellite Professional International หรือ SSPI) ประจำปี 2549
สำหรับการใช้งานไอพีสตาร์ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีการส่งมอบอุปกรณ์ปลายทางไอพีสตาร์ (User Terminal) ไปแล้วกว่า 70,000 ชุด ให้แก่ ประเทศไทย, จีน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เวียดนาม, เมียนม่าร์, ลาว, ไต้หวัน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และกัมพูชา โดยคาดว่าในสิ้นปี 2550 จะมียอดรวมโดยประมาณกว่า 150,000 ชุด จากการขยายตลาดเพิ่มเติมในประเทศจีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และในอีกหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โครงการไอพีสตาร์ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยหลายประการ ได้แก่ การนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาลในอนาคต เนื่องจากกว่า 90% ของผู้ใช้งานจะเป็นลูกค้าต่างประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารดาวเทียมของไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศอีกด้วย
โครงการไอพีสตาร์ยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อให้บริการต่างๆ ได้หลากหลาย สำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการพัฒนากิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (Universal Service Obligation: USO) ซึ่งในอดีตเป็นไปได้อย่างล่าช้าและยากลำบาก เนื่องจากต้นทุนที่สูงในการให้บริการในพื้นที่ที่ห่างไกล
ปัจจุบัน ในประเทศไทย ได้มีการใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์ในการให้บริการสื่อสารทั้งทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อประโยชน์สาธารณะในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการให้บริการของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) เนื่องจากสามารถลดต้นทุนในการวางระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงข่ายภาคพื้นดินได้อย่างมาก อาทิ ในตำบลต่างๆ กว่า 7,000 แห่ง ก็มีการใช้งานไอพีสตาร์อยู่ในขณะนี้ ฯลฯ นับว่าเป็นการช่วยลดช่องว่างทางการสื่อสาร (Digital Divide) ให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก ด้วยความสามารถในการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมแบบสองทางอย่างสมบูรณ์แบบของไอพีสตาร์ ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศสามารถเข้าใช้งานบรอดแบนด์ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
โครงการไอพีสตาร์ยังมีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาด้านองค์ความรู้ของประเทศไทย อาทิ โครงการ เอ็มโออีเน็ท (MOENet) หรือโครงการอินเตอร์เน็ตโรงเรียนในชื่อ สคูลเน็ท (SchoolNet) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 10,000 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 40,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสให้ โรงเรียนที่อยู่ในชุมชนห่างไกล ซึ่งขาดทั้ง อุปกรณ์ อาจารย์ และหลักสูตรที่ดีในการสอน ให้สามารถเชื่อมต่อมายังศูนย์การเรียนส่วนกลาง และใช้ข้อมูลการเรียนการสอนที่มีคุณภาพของส่วนกลางได้ โดยสามารถลดต้นทุนในการส่งหนังสือเรียนหรือเนื้อหาสำหรับการเรียนในแต่ละหลักสูตร เพียงทำเนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทุกโรงเรียนในโครงการก็สามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้ทันที ช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ รวมทั้งค่าขนส่งอีกด้วย
จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบริษัทฯ ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้โครงการไอพีสตาร์และดาวเทียมไทยคม 4 ดำเนินมาด้วยดี และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โครงการไอพีสตาร์กำลังดำเนินการขยายพื้นที่บริการและติดตั้งสถานีควบคุมเครือข่ายให้ครบ 14 ประเทศตามแผน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก
นุสรา เถื่อนถาด
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)
41/103 ถนนรัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี
โทรศัพท์: (+662) 591-0736 to 49 Ext. 8493
โทรสาร: (+662) 591 0724, 591-0705
อีเมล์: nuchsarat@thaicom.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ