กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน เดินหน้าแผนส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันจูงใจให้ผู้ค้าผสมไบโอดีเซล B100 สัดส่วน 1 — 5% ในน้ำมันดีเซลปกติ เตรียมประกันคุณภาพ และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ผลิตรถยนต์ ชูนโยบายใช้ปาล์มดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบสำคัญผลิตไบโอดีเซล เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรในประเทศ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล (B100) เพิ่มมากขึ้น นอกจากการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 แล้ว รัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการผสมน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในสัดส่วน 1 — 5% ในน้ำมันดีเซลทั่วไปได้อีกทางหนึ่ง โดยจะใช้เงินกองทุนเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดำเนินการดังกล่าว ซึ่งน้ำมันดีเซลดังกล่าวจะยังมีคุณภาพเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปัจจุบัน โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณภาพไบโอดีเซล B 100 เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ และหารือไปยังบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อให้การรับรองการใช้น้ำมันดีเซลดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็ว ๆนี้
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 สำหรับผลิตน้ำมันดีเซล สูงถึง 1.5 — 2 ล้านลิตรต่อวัน โดยที่ต้องใช้ผลปาล์มดิบสูงถึง 3 - 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะสามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซล B100 ที่ผลิตในขณะนี้ทั้งหมด และช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำได้ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล B100 อยู่ 4 รายกำลังการผลิตประมาณ 1.1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งต้องใช้ผลปาล์มสดสูงถึง 2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ในปี 2550 จะมีผลปาล์มดิบผลิตได้ 7.34 ล้านตัน ผลิตน้ำมันปาล์มได้ 1.1 ล้านตัน และใช้ในการบริโภคประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งจะมีน้ำมันปาล์มเหลือผลิตไบโอดีเซล B 100 เพียง 3 แสนตัน
สำหรับการส่งเสริมการผลิตและใช้ไบโอดีเซล กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก จากการที่นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้มีนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนไทยลงทุนเพาะปลูกพืชพลังงานในประเทศเพื่อนบ้าน และจัดทำ Contract farming นั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรภายในประเทศ กระทรวงพลังงานได้เสนอว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล B100 รัฐจะไม่ให้การสนับสนุนทางด้านภาษี และเงินกองทุน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งจะทำให้ไม่จูงใจให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล B100 ในประเทศ