วันสุดท้ายรณรงค์ 7 วันระวังอันตรายปีใหม่ 54 ผู้เสียชีวิต 33 คน ผู้บาดเจ็บ 297 คน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 5, 2011 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ประจำวันที่ 4 ม.ค. 54 เกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 270 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 คน ผู้บาดเจ็บ 297 คน รวม 7 วัน (29 ธ.ค. 53 — 4 ม.ค. 54) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,497 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 358 คน ผู้บาดเจ็บ 3,750 คน ทั้งนี้ ศปถ. จึงได้เสนอแนวทางให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง รถโดยสารสาธารณะ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุบัติเหตุ ทางถนนในพื้นที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่สุดท้ายของการรณรงค์ในช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม 270 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (245 ครั้ง) 25 ครั้ง ร้อยละ 10.20 ผู้เสียชีวิต 33 คน ลดลงจากปี 2553 (38 คน) 5 คน ร้อยละ 13.16 ผู้บาดเจ็บ 297 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (264 คน) 33 คน ร้อยละ 12.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 61.48 บนถนนสายรอง (นอกเขตทางหลวงแผ่นดิน) ร้อยละ 59.63 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 27.78 โดยผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 60.30 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 15 ครั้ง รองลงมา พิษณุโลก 13 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 18 คน รองลงมา สมุทรปราการ 16 คน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,531 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 69,368 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 596,875 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยง 10 มาตรการรวม 76,110 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ 23,276 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 22,991 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.53 — 4 ม.ค. 54) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,497 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (3,534 ครั้ง) 37 ครั้ง ร้อยละ 1.05 ผู้เสียชีวิตรวม 358 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 (347 คน) 11 คน ร้อยละ 3.17 ผู้บาดเจ็บรวม 3,750 คน ลดลงจากปี 2553 (3,827 คน) 77 คน ร้อยละ 2.01 โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.24 รองลงมา ขับรถเร็ว ร้อยละ 20.42 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 27.53 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.24 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 58.39 บนถนนสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดิน) ร้อยละ 36.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01- 20.00 น. ร้อยละ 29.94 โดยผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 58.03 สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสม สูงสูด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย จังหวัดละ 122 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 13 คน รองลงมา ประจวบคีรีขันธ์ 12 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 131 คน รองลงมา พิษณุโลก 127 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตใน 7 วัน ได้แก่ ตราด ทั้งนี้ จากข้อมูล การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร พบมีผู้กระทำผิดกรณีไม่สวมหมวกนิรภัยสูงที่สุด รองลงมา ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ตามลำดับ นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนดังกล่าว พบข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็น คนในพื้นที่กว่าร้อยละ 80 โดยเป็นคนในชุมชน หมู่บ้านสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเมาสุราและไม่สวมหมวกนิรภัย สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ รถตู้ และรถกระบะ เกิดจากการไม่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร อีกทั้งมีการเพิ่มเที่ยวรถในช่วงเทศกาล ทำให้พนักงานขับรถอ่อนล้า และมีสภาพร่างกายไม่พร้อมขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ได้ง่าย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนจากรถโดยสารสาธารณะ ศปถ. จึงได้สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง รถโดยสารสาธารณะ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอุบัติเหตุทางถนน ในพื้นที่ ในส่วนของปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ ศปถ. ที่กำหนดให้ปี 2554 เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดมาตรการสนับสนุนและผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการทำให้พื้นที่ทุกแห่งเป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซนต์ เพื่อลดความสูญเสียในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.6 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์กว่า 2 ล้านคัน จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ แยกเป็น รายภาค พบว่า ภาคกลาง มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 144 คน รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 88 คน ภาคเหนือ 72 คน ภาคใต้ 54 คน หากเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงถึงร้อยละ 51.72 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 4.35 ในขณะที่ภาคเหนือ ลดลงร้อยละ 11.11 ภาคใต้ ลดลงร้อยละ 22.86 ซึ่ง ศปถ. จะได้ประสานจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ดำเนินการวิเคราะห์หาสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มสูงขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการวางแผนรับมือ ป้องกันและลดความสูญเสียชีวิตทั้งในช่วงเทศกาล ช่วงปกติและ ในระยะยาวต่อไป “...... ท้ายนี้ ศปถ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้บูรณาการความร่วมมือในการอำนวยการความสะดวกและสร้างความปลอดภัย ในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่แก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ แม้จะไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ตาม ที่คาดหมายไว้ แต่รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นที่จะลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด โดยเร่งสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนแก่ประชาชน ตามที่ได้ประกาศให้ปี พ.ศ.2554 — 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน จึงขอวอนคนไทยทุกคนร่วมกันลดอุบัติเหตุทางถนน โดยปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และยึดความปลอดภัย และความไม่ประมาท เป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย........” นายสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ