ทรูประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 โดย EBITDA เติบโตต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2007 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--พี อาร์ โซลูชั่น
บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2550 โดย EBITDA เติบโตต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากไตรมาสที่แล้ว
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจหลักทุกกลุ่มยังปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่งบดุลดีขึ้นมาโดยตลอด อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของกลุ่มบริษัทโดยรวมลดลงเป็น 3.7 เท่า ในไตรมาสนี้ โดยบริษัทได้ใช้คืนเงินกู้จำนวน 2.3 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนเงินกู้ในธุรกิจออนไลน์
รายได้จากการให้บริการโดยรวมของทรู จำนวน 13.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.4 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 7.7 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA มีจำนวนทั้งสิ้น 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 จากไตรมาสที่ผ่านมา และร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย (ไม่นับรวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2549 นอกจากนั้นอัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 35.6 ในไตรมาสนี้
ทรูรายงานผลกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2550 จำนวน 478 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.2 พันล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติมีจำนวนทั้งสิ้น 823 ล้านบาท ลดลงอย่างมากจากผลขาดทุนจำนวน 2.1 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า
ในไตรมาสนี้ ทรูมูฟมีรายได้จากค่าบริการจำนวน 6.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 25 จากไตรมาสเดียวกันในปี 2549 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากไตรมาส 1 ปี 2549 (เป็น 1.9 พันล้านบาท) และ EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.8 จากร้อยละ 20.6 และ ร้อยละ 23.5 ในไตรมาส 4 และ ในไตรมาส 1 ปี 2549 ตามลำดับ ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติของทรูมูฟในไตรมาสนี้ลดลงเป็น 288 ล้านบาท
รายได้จากการให้บริการของกลุ่มออนไลน์ โดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.7 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็น 6.1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากธุรกิจบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าทั่วไปเติบโตต่อเนื่อง และโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 27.2 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 2.6 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากค่าใช้จ่ายลดลง อย่างไรก็ตาม รายได้กลุ่มธุรกิจออนไลน์ยังคงลดลง จากไตรมาสที่ 1 ปี 2549 ในอัตราร้อยละ 1.1 ในขณะที่ EBITDA ลดลงในอัตราร้อยละ 10.2
ธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ได้เปลี่ยนชื่อจากยูบีซีมาเป็นทรูวิชั่นส์ ในช่วงต้นไตรมาส ได้รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 443 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ โดยมี EBITDA เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2549 ในอัตราร้อยละ 49 และ จากไตรมาสที่ 1 ปี 2549 ในอัตราร้อยละ 22.5
ทรูมูฟเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้เกือบ 560,000 ราย ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 8.1 ล้านราย (หรือ 8.6 ล้านรายหากใช้วิธีการนับจำนวนลูกค้าแบบเดียวกับคู่แข่ง) ซึ่งคาดว่า การเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle ด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นร่วมกับผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มบริษัท เช่น รายการอะคาเดมี่ แฟนเทเซีย 4 ที่กำลังจะเปิดตัว และ คอนเทนท์อื่นๆ จากทรูวิชั่นส์ ทำให้ปี 2550 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ทรูมูฟสามารถครองตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ราว 1 ใน 3 ตามเป้าหมาย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “การเข้าสู่ระบบการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมแบบใหม่ นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการปรับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สมเหตุสมผลมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ให้บริการทุกรายสามารถแข่งขันบนพื้นฐานที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น”
“บริษัทคาดว่า ทรูมูฟจะได้รับประโยชน์จากการปรับอัตราค่าบริการ ตั้งแต่ไตรมาส 2 เนื่องจากมีการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ ซึ่งจะเห็นผลอย่างเต็มที่ในไตรมาสถัดไป”
สำหรับธุรกิจออนไลน์ บริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าทั่วไปมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 46,000 รายในไตรมาสนี้ ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 489,000 ราย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ทรูสามารถเชื่อมต่อเกตเวย์กับต่างประเทศได้โดยตรง ส่งผลให้ทรูเป็นผู้นำในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการกำหนดมาตรฐานการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของตลาดประเทศไทย ที่ความเร็ว 1 Mbps ด้วยการเปิดให้บริการ SUPER hi-speed Internet ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ลูกค้าสามารถเพิ่มความเร็วได้ถึง 1 Mbps ในอัตราค่าบริการ 599 บาทต่อเดือน บริการดังกล่าวได้รับตอบรับและมีผู้สมัครใช้บริการมากกว่า 100,000 ราย รวมผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนมาใช้ SUPER hi-speed จึงทำให้จำนวนลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าในไตรมาสก่อนๆ และ คาดว่าจะยังคงส่งผลดีต่อเนื่องในไตรมาสถัดไป
เนื่องจากธุรกิจบรอดแบนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเข้ามาชดเชยรายได้ที่ลดลงจากโทรศัพท์พื้นฐาน PCT และโทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง
ทรูวิชั่นส์มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 568,000 ราย ในขณะที่แคมเปญสำหรับผู้ใช้บริการในระดับกลางและล่าง มีผู้สมัครใช้กว่า 130,000 ราย นับตั้งแต่นำเสนอแคมเปญนี้ในเดือนมิถุนายน 2549 เป็นต้นมา
งบดุลของทรูดีขึ้นมาโดยตลอด โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของกลุ่มบริษัทโดยรวมลดลงเป็น 3.7 เท่า (จาก 4.6 เท่าในปี 2549) นอกจากนี้ ทรูยังคงมุ่งมั่นที่จะลดภาระหนี้ในธุรกิจออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานได้ถึงจุดอิ่มตัว โดยในไตรมาสนี้ บริษัทได้ใช้คืนเงินกู้จำนวน 2.3 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนเงินกู้ในธุรกิจออนไลน์
“ยุทธศาสตร์ผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรูแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายตรงใจผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอแพ็คเกจที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่มทรู รวมทั้งสามารถนำเสนอคอนเทนท์ที่มีคุณภาพและสาระต่างๆ ผ่านบริการอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก ส่งผลให้ทรูมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด” นายศุภชัยกล่าวสรุป
หมายเหตุ: ในเอกสารฉบับนี้ คำว่า ทรู บริษัท บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม หมายถึง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ/หรือ บริษัทร่วม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์, กลุ่มบริษัททรู
ศิษฎิ รูเบ็น
โทร +66 (0) 2643 2463 อีเมลล์ sisadhi_reu@truecorp.co.th
พิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม
โทร +66 (0) 2699 2772 อีเมลล์ Pimolpan_sir@truecorp.co.th
สิทธิกร รัตนะเศรษฐี
บ.พี อาร์ โซลูชั่น จำกัด
02-254-2862-3 www.prsolution.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ