กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--สสวท.
อีกไม่นาน คุณครูและวัยโจ๋ ที่รักคณิตศาสตร์และกำลังติดตามการใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการการสอนคณิตศาสตร์อยู่ ก็จะได้ลุ้นกับการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ระดับประเทศ ที่โรงแรมวินเซอร์สวีท กรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 20-25 มกราคม 2554 ที่จะถึงนี้
โดยวันที่ 20-21 มกราคม 2554 จะจัดแข่งขันระดับประถมศึกษา วันที่ 22-23 มกราคม 2554 แข่งขันระดับ ม. ต้น และ วันที่ 24-25 มกราคม 2554 แข่งขันระดับ ม. ปลาย
การแข่งขันครั้งนี้ จะมีวัยโจ๋ ตัวแทนที่จากศูนย์ประกวดระดับภูมิภาค 20 ศูนย์ ที่ได้จัดประกวดและคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 6-7 สิงหาคม 2553 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศูนย์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) จัดไปเรียบร้อยแล้ว
เราจึงพาไปดูกันว่า น้อง ๆ ตัวแทนจากศูนย์ภูมิภาคนั้น เขาเตรียมตัวกันถึงไหนแล้ว และรู้สึกตื่นเต้นเพียงใด ที่จะเข้าประลองเวทีใหญ่ที่จะถึงนี้ โดยได้ไปพูดคุยกับน้อง ๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากศูนย์ประกวดโรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยกัน
นายวรวิทย์ อุตมัง หรือ แฮ๊ค ชั้น ม. 5 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา รางวัลชนะเลิศจากศูนย์ประกวดนี้ ได้ฝึกฝีมือทุกเย็นหลังเลิกเรียน ประมาณ 30 นาที — 1 ชั่วโมง ก่อนกลับบ้าน
ผลงานสร้างสรรค์หัวข้อท่องเที่ยวบ้านฉันที่ได้รับรางวัลระดับภูมิภาคนั้น แฮ๊คได้ใช้โปรแกรม GSP นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัเลย เช่น ภูกระดึง ผีตาโขน ดอกไม้ประจำจังหวัด และที่สำคัญคือ พระธาตุศรีสองรักที่เป็นที่นับถือของคนเมืองเลย
นายธวัชชัย อุตมัง หรือ ท๊อป ชั้น ม. 5 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา รางวัลชนะเลิศจากศูนย์ประกวด กล่าวถึง เทคนิคการเรียนรู้การใช้โปรแกรม GSP คือการแก้โจทย์ปัญหาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อต่อยอดความคิด พัฒนาตัวเองไปกับการเจอโจทย์ใหม่ ๆ
“การเตรียมความพร้อมในการประกวดในระดับประเทศของผมนั้น มีการซ้อมทุกเย็นหลังเลิกเรียน และในช่วงเวลาว่าง ซึ่งต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถทำงานได้เร็วได้ถูกต้องและรอบคอบมากขึ้น ส่วนแนวคิดในการสร้างสรรค์ พบเจอสิ่งต่าง ๆ ที่สวยงาม สะดุดใจ จินตนาการตามก็หยิบมาเป็นงานสร้างสรรค์ในแบบของเราเอง”
เด็กชายถิรนัย เต้จั้น หรือ โทน น้องเล็กชั้น ม. 3 โรงเรียนศรีสงครามวิทยา บอกว่า ภูมิใจกับผลการประกวดผลงานสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ด้วยโปรแกรมGSP ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทน ไปประกวดระดับประเทศครั้งนี้มาก
“ผมมีความมั่นใจกับการแข่งขันระดับประเทศ 80 % เวลาที่เหลือจะซ้อมให้เต็มที่ เทคนิคการซ้อมครูจะให้โจทย์ไปแก้ปัญหา ถ้าสิ่งใดที่ยังสงสัยจะถามครู ซึ่งครูทุกคนสามารถเป็นที่ปรึกษาให้ได้”
เทคนิคในการสร้างผลงาน คือ เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวเรา แล้วนำมาประยุกต์ ในการสร้างผลงาน ตอนนี้เตรียมความพร้อมได้ประมาณหนึ่งแล้ว สิ่งที่พยายามเพิ่มเติมคือความรู้ทางด้านเนื้อหา ซึ่งจะพัฒนาต่อไป
สิ่งที่โทนมั่นใจมากและได้นำไปใช้ในเวทีระดับประเทศแน่นอน คือ ความสามารถทางศิลปะ การคิดสร้างสรรค์เช่นการออกแบบต่าง ๆ ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความสามารถในทางคณิตศาสตร์แล้ว ล่าสุดหนุ่มน้อยคนนี้ยังคว้ารางวัลชนะเลิศในรุ่นอายุ (Age Group Prize) จากการประกวดศิลปะเด็กนานาชาติ “Rainbow 2010” ของประเทศฮังการีมาครองเมื่อเดือนกันยายน 2553
โทนนั้นชอบศิลปะ และมีความสามารถสูงทางศิลปะจึงนำวิชาศิลปะมาประยุกต์กับคณิตศาสตร์ในโปรแกรม GSP ได้ โดยโทนบอกว่าศิลปะทำให้มีสมาธิในการเรียน ไม่ใช่เฉพาะในการเรียนศิลปะเท่านั้น แต่ช่วยให้มีสมาธิในการเรียนวิชาอื่น ๆ ด้วย
เทคนิคการเรียนคณิตศาสตร์ของโทน คือ ตั้งใจเรียน มั่นศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน โปรแกรม GSP ก็ต้องมั่นศึกษาหาความรู้เช่นกัน ส่วนไหนที่ไม่เข้าใจจะกลับมาศึกษาทบทวนทำความเข้าใจ เนื้อหาทางคณิตศาสตร์ที่ชอบเรียนเป็นพิเศษคือชอบเรื่องสมการเพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่นการซื้อผัก เป็นต้น เพราะคณิตศาสตร์เป็นสิ่งใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน
ความสามารถของเด็ก ๆ เหล่านี้จึงเป็นที่น่าจับตามอง และขอเชิญชวนมาร่วมลุ้นกับเวทีการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ระดับประเทศ ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว