กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการประชุมครั้งที่ 1/2554 ประจำเดือนมกราคมว่า คณะกรรมการเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนคาร์บอนด้วยรูปแบบกองทุนรวม เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนและตลาดคาร์บอนเครดิตได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ กองทุนคาร์บอนเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยซึ่งมีเป้าหมายให้มีหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งภายในปี 2554
สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโตซึ่งกำหนดว่า ภายในปี 2551-2555 ประเทศอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 5% จากปริมาณการปล่อยในปี 2533 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาซึ่งไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจก หากให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตแล้วก็สามารถดำเนินโครงการ CDM ได้ สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อปี 2545 และมีศักยภาพในการดำเนินโครงการ CDM แต่โดยที่โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการที่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง ใช้เวลาดำเนินโครงการนาน มีค่าใช้จ่ายสูง และเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการพัฒนาโครงการ CDM ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนคาร์บอนในรูปแบบของกองทุนรวม โดยกองทุนจะสามารถลงทุนในตราสารทุน หรือตราสารหนี้ของกิจการที่ดำเนินโครงการ CDM และซื้อขายปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก (Certified Emission Reduction: CER) ที่เกิดจากโครงการ CDM รวมถึงธุรกรรมอื่น เช่น ค้ำประกัน ให้กู้ยืมเงิน ให้เช่าซื้อหรือลีสซิ่งเครื่องมือเครื่องจักร ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ CDM ตลอดจนให้มีอำนาจร่วมบริหารในกิจการที่ดำเนินโครงการ CDM ได้ และเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูง โดยหลักการจึงจะอนุญาตให้กองทุนคาร์บอนระดมเงินได้เฉพาะจากผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้และอาจกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ในระดับสูง
อนึ่ง ปัจจุบันในประเทศไทยมีโครงการที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) 123 โครงการ ในจำนวนนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาดของสหประชาชาติ (CDM Executive Board) เพื่อรอการพิจารณาออก CER 40 โครงการ และได้รับการรับรองว่าผลิต CER ได้แล้ว 2 โครงการ สำหรับกองทุนคาร์บอนทั่วโลกเมื่อสิ้นปี 2552 มีจำนวน 96 กองทุน มีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 15,470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ