ประเทศไทยรองแชมป์ ผู้บริหารระดับสูงรับเงินเดือนมากกว่าพนักงาน 10 เท่า

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2007 17:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--ScottAsia Communications
ช่องว่างระหว่างฐานเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานทั่วไปในประเทศไทยต่างกันถึง 10 เท่า สูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รายงานจากผลการวิจัยของเฮย์ กรุ๊ป บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก
ประเทศที่ช่องว่างระหว่างเงินเดือนผู้บริหารกับพนักงานทั่วไปห่างกันมากที่สุดคือเวียดนาม รองลงมาคือไทย และจีนมาเป็นอันดับที่สาม โดยทั้งสามประเทศ ฐานเงินเดือนก่อนหักภาษีของผู้บริหารระดับสูงนั้นมากกว่าพนักงานทั่วไปถึง 10 เท่า (ปี 2550) สำหรับในประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าเช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ มีแนวโน้มความแตกต่างระหว่างรายได้คล้ายกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตเต็มที่แล้วอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ที่มีความแตกต่างของรายได้อยู่ที่ประมาณ 3.1 เท่า (ดูตารางที่ 1)
“เหตุที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ช่องว่างระหว่างเงินเดือนของผู้บริหารกับพนักงานทั่วไปห่างกันมากที่สุดนั้น เนื่องมาจากเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกัน การว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงเข้ามาทำงานนั้นต้องให้ฐานเงินเดือนที่สูงมาก โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้บริหารนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากในประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในระดับผู้บริหารอยู่มาก” นายบุญเลิศ วิบูลย์เกียรติ ผู้จัดการฝ่าย Reward Information Services ประจำประเทศไทยกล่าว
ความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น มร. โรแลนด์ รูซ กรรมการบริหารฝ่าย Reward Information Asia ประจำเฮย์กรุ๊ป สำนักงานใหญ่สิงคโปร์กล่าว “จากผลการวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่าตลาดในภูมิภาคที่กำลังเติบโตนั้นมีความต้องการบุคลากรระดับผู้บริหารสูง ในประเทศเวียดนามและจีน มีการขาดแคลนผู้บริหารที่มีทักษะในการบริหารจัดการอย่างมาก ดังนั้น ผลตอบแทนที่สูงจึงเป็นสิ่งล่อใจที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้บริหารเพื่อดึงดูดและรักษาพวกเขาไว้ และแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเศรษฐกิจของเอเชียจะยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”
นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2548 — 2550 ยังแสดงให้เห็นว่า ช่องว่างระหว่างฐานเงินเดือนในภูมิภาคเอเชียดังกล่าวนั้นไม่ได้แคบลงเลย ตรงกันข้ามกับประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่มีความแตกต่างอยู่ที่ประมาณ 3 เท่า (ตารางที่ 2) ในประเทศอินเดีย จีน เวียดนาม และไทย ความแตกต่างระหว่างฐานเงินเดือนผู้บริหารกับพนักงานทั่วไปนั้นเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดสามปีที่ผ่านมา
ความแตกต่างของรายได้ในประเทศฟิลิปปินส์ยังอยู่ในระดับคงเดิมโดยส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวอันเข้มแข็งของสหภาพฯ ประเทศในเอเชียที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ยังคงมีความแตกต่างของฐานเงินเดือนคงที่ อย่างไรก็ตาม เฮย์กรุ๊ปคาดว่าความแตกต่างระหว่างรายได้จะยังคงเพิ่มขึ้นในอีกห้าปีต่อไปเนื่องจากสงครามการแย่งชิงผู้บริหารที่มีพรสวรรค์ทางด้านการบริหารจัดการจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
“แนวโน้มช่องว่างระหว่างรายได้ที่ห่างกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม ไทย และจีนนั้น แสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญทางสังคมและธุรกิจบางอย่าง ซึ่งรัฐบาลอาจจะนำข้อมูลแนวโน้มนี้มาใช้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือปรับปรุงโครงสร้างภาษีในระยะสั้น หรือลงทุนให้กับการศึกษาและการฝึกอบรมในระยะยาว เพื่อกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศเหล่านี้โดยตรง” มร. รูซ กล่าว
นอกจากนี้ มร. รูซ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความแตกต่างของรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังเป็นการบ่งชี้ถึงความแตกต่างของความสามารถระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทั่วไป โลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Globalization) จะก่อให้เกิดแรงกดดันทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และมีผลกระทบต่อบริษัทและรัฐบาลให้ผลักดันให้เกิดส่วนผสมที่ถูกต้องระหว่างระดับทักษะกับนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนให้กับแรงงานในทุกระดับ ในขณะที่รัฐบาลจะต้องหาวิธีที่จะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการมีแรงงานที่มีความได้เปรียบทางด้านค่าแรง กับการสร้างความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ และบริษัทต่างๆ ก็จะต้องสร้างทางเลือกเชิงกลยุทธ์ว่าจะใช้จ่ายเงินไปกับค่าตอบแทนแรงงานให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับระดับทักษะและความสามารถให้มากที่สุด คำถามที่ทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลต้องถามก็คือ “เราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงขั้นต่อไปแล้วหรือยัง?”
รายงานเกี่ยวกับความแตกต่างของรายได้ในเอเชีย-แปซิฟิก (Pay Gap Report in Asia-Pacific) ของเฮย์กรุ๊ปได้ถูกจัดทำขึ้นโดยการเปรียบเทียบข้อมูลรายได้ของประเทศต่างๆจากระบบ Pay Net ของเฮย์กรุ๊ป โดยเปรียบเทียบข้อมูลรายได้ระหว่างผู้บริหารระดับสูง (หัวหน้าฝ่ายหรือแผนก) กับพนักงานทั่วไป ซึ่งเฮย์กรุ๊ปทำการเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ ซึ่งหมายความว่าการเปรียบเทียบดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั่วโลก
ตารางที่ 1: ความแตกต่างของฐานเงินเดือนระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทั่วไป (2007)
ลำดับ ประเทศ ความต่างระหว่างรายได้ (เท่า)
1. เวียดนาม 11.7
2. ไทย 10.6
3. จีน 10.5
4. อินโดนีเซีย 8.7
5. อินเดีย 7.4
6. ไต้หวัน 6.1
7. มาเลเซีย 6.0
8. ฟิลิปปินส์ 5.7
9. ฮ่องกง 5.5
10. สิงคโปร์ 4.9
11. ออสเตรเลีย 3.2
12. นิวซีแลนด์ 3.1
13. เกาหลีใต้ 3.1
ตารางที่ 2 : การวิเคราะห์ความแตกต่างฐานเงินเดือนระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานระดับธรรมดาเป็นระยะเวลาสามปี
2007 2006 2005
เวียดนาม 11.7 11.6 6.8
ไทย 10.6 10.1 13.9
จีน 10.5 8.8 8.3
อินโดนีเซีย 8.7 9.7 7.2
อินเดีย 7.4 7.0 6.3
ไต้หวัน 6.1 5.1 -
มาเลเซีย 6.0 5.9 5.0
ฟิลิปปินส์ 5.7 5.3 5.6
ฮ่องกง 5.5 4.9 4.9
สิงคโปร์ 4.9 4.9 4.7
ออสเตรเลีย 3.2 3.0 3.0
นิวซีแลนด์ 3.1 3.1 3.0
เกาหลีใต้ 3.1 3.0 -
เกี่ยวกับเฮย์ กรุ๊ป
บริษัท เฮย์ กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่ทำงานร่วมกับผู้นำองค์กรในการผลักดันกลยุทธ์มาสู่การปฏิบัติ เราพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจูงใจพวกเขาเหล่านั้นให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ ด้วยสาขา 88 สาขาใน 47 ประเทศ เราทำงานร่วมกับลูกค้ากว่า 7,000 คนทั่วโลก ลูกค้าของเราประกอบด้วยองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม และแน่นอนว่ามีความท้าทายทางธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เรามุ่งเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้องค์กรเหล่านั้นตระหนักถึงศักยภาพที่มีอยู่ของตนเอง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทเฮย์ กรุ๊ป โปรดเยี่ยมชมเว็ปไซต์ของเราที่ www.haygroup.com
วิธีการที่ใช้ในการสำรวจ / เกี่ยวกับ Hay Group PayNet®
รายงาน World Pay Report ของเฮย์ กรุ๊ปซึ่งถูกรวบรวมและวิเคราะห์โดยใช้ระบบ PayNet® ของเฮย์กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดในด้านการกำหนดค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของพนักงาน ในรายงานนี้จะเป็นการเปรียบเทียบรายละเอียดการจ่ายเงินเดือน โบนัส ภาษี และอัตราค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานที่ไม่ต้องอาศัยทักษะไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง และเปิดเผยข้อมูลรายได้ส่วนบุคคลหลังหักภาษี (Disposable Income) ของผู้จัดการแผนกของบริษัทต่างๆ จาก 47 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย สำหรับค่าครองชีพจะคำนวณจากรูปแบบการใช้จ่าย “โดยเฉลี่ย” ภายในแต่ละประเทศ
ดูข้อมูลเกี่ยวกับระบบ PayNet เพิ่มเติมได้ที่ www.haypaynet.com
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ:
ณัฐมณฑ์ ณัฐณพงศ์ / ScottAsia Communications
โทร: + 66 2644 7453, 089 668 1711
nat@ScottAsia.net
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ