กรมสุขภาพจิต มอบข่าวดี!!รับปีใหม่ “ป่วยจิต" ได้สิทธิค่ารักษาเต็ม

ข่าวทั่วไป Monday January 10, 2011 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2552 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยทางจิตมากถึง 1,440,393 ราย โดยพบว่าอัตราผู้ป่วยที่มาใช้บริการในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ทั้งในสถานบริการเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต และในสถานบริการสาธารณสุขทั่วไป มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เฉลี่ยแล้วจะสูงถึงร้อยละ 3.05 ต่อปี ซึ่งจะมีทั้งผู้ป่วย โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคปัญญาอ่อน โรคลมชัก ผู้ติดสารเสพติด พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายสำเร็จ และผุ้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตในทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิค่ารักษาในระบบประกันสังคมเหมือนการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายอื่นๆ แม้ว่าที่ผ่านมา การรักษาผู้ป่วยทางจิตจะสามารถรักษาด้วยยาได้แล้วก็ตาม แต่ยาที่ใช้รักษาเช่น รีสเพอร์โดน (Risperidone) โอลันซาปีน (Olanzapine) มีราคาแพงมาก ถึงเม็ดละ 60-200 บาท และการที่ผู้ป่วยโรคทางจิตที่ประกันตนในระบบประกันสังคมถูกจำกัดสิทธิด้านค่ารักษาพยาบาล โดยจะได้รับการคุ้มครองเฉพาะผู้ป่วยโรคจิตเฉียบพลันได้ไม่เกิน 15 วัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณซึ่งมีเพียงปีละ 4-5 ล้านบาทเท่านั้น เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก การรักษาแทบจะไม่เกิดผลในทางที่ดีกับผู้ป่วยเลย ทั้งๆผู้ป่วยได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไปทุกเดือน ข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ บางคนจึงต้องหยุดยา การรักษาจึงไม่ต่อเนื่อง จนอาการกำเริบ ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมตามปกติได้ต่อไป ทำให้มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้ป่วยโรคจิต “จากการที่ภาครัฐเห็นความสำคัญของปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต และได้ให้ทางสำนักงานประกันสังคมอนุมัติงบประมาณในวงเงิน 115 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ ให้ผู้ประกันตนได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านการรักษารักษาพยาบาลแบบไม่จำกัดเงื่อนไข ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2554นี้ ถือว่าเป็นข่าวดีและเป็นของขัวญปีใหม่ที่มีคุณค่ายิ่ง สำหรับผู้ป่วยโรคจิตทุกคนที่จะได้เข้าสู่ระบบการคุ้มครองสิทธิที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถรักษาได้ทันเวลาและหายขาด เพื่อกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้ใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนเดิม” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่าสำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต การส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับตนเอง ถือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตได้ โดยมีข้อสรุปที่น่าสนใจจากนักวิชาการว่ามนุษย์เรานั้นมีหลายมทางเลือกที่จะช่วยให้มีสุขภาพจิตดีขึ้นทางเลือกอันดับแรก คือ เลือกทำในสิ่งที่ตนเอง พึงพอใจ ซึ่งทุกคนได้พยายามทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งอาจต้องสิ้นเปลืองเวลาและเงินทองไปมาก รวมทั้งไม่สามารถทำเช่นนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทางเลือกที่สอง คือ เลือกทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น การเข้าร่วมชมรมต่างๆ อย่างชมรมออกกำลังกาย รวมทั้งการทำกิจกรรมด้านจิตสาธารณะ การเป็นอาสาสมัคร การเข้าไปช่วยเหลือ ผู้ที่ตกอยู่ในความยากลำบาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ โดยหลักวิชาการแล้ว ทำให้เกิดความสุขใจได้อย่างมาก ดังเห็นได้จากตัวอย่างการช่วยเหลือกันช่วงน้ำท่วมที่ทำให้ทุกคนมีขวัญและกำลังใจ เกิดความสุขเพิ่มมากขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกันจึงนำมาซึ่งความสุขที่มีความหมายและลึกซึ้งกว่าความสุขที่ต้องซื้อหา ส่วนทางเลือกที่สาม คือ เลือกที่จะทำในสิ่งที่มีคุณค่าและมีผลดีอย่างแท้จริง คิดให้ดีว่าสิ่งใดที่ทำมีคุณค่ามีความหมายแล้วจึงทำไปเพราะการทำในสิ่งที่ตนเองมั่นใจว่ามีประโยชน์ตามคุณค่าที่ตนเองตั้งไว้ ย่อมนำมาซึ่งความสุข สุขภาพจิตดี นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังได้เผยถึงเคล็ดลับที่ช่วยทำให้มีความสุขและมีสุขภาพจิตที่ดีมอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนชาวไทยทุกคน ด้วยหลักง่ายๆ 3 ข้อ คือ "ทำใจ-ทำกาย-ทำบุญ" 1. ทำใจ คือ ฝึกการควบคุมจิตใจของตนเอง ด้วยการควบคุมความคาดหวัง โดยอย่าตั้งความคาดหวังที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จหรือเป็นไปไม่ได้ ควรตั้งความคาดหวังที่เป็นชิ้นเล็กๆ และเป็นบันไดต่อเนื่องกันขึ้นไป ก็จะทำให้พบความสมหวังได้เป็นระยะๆ หากเกิดความผิดพลาด ความผิดหวังที่มาถึงก็จะไม่รุนแรง ดังนั้น จึงต้องควบคุมจิตใจให้ดี เพราะความทุกข์ของคนส่วนมากเกิดจากความผิดหวัง 2.ทำกาย คือ การดูแลสุขภาพกายของตนเองจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะหากนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้สุขภาพจติเสียได้ง่าย เช่น หงุดหงิดง่าย สมาธิไม่ดี ความจำความพร้อมในด้านต่างๆลดลง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งออกกำลังกายทางจิตวิทยานั้น หมายถึงการทำร่างกายให้กระฉับกระเฉงขึ้นเพื่อส่งผลให้ลดอารมณ์ทางด้านลบ และเพิ่มอารมณ์ด้านบวกให้มากขึ้น มีหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่า การออกกำลังกายช่วยในเรื่องอารมณ์ และลดอาการซึมเศร้า และช่วยให้จัดการกับอารมณ์เศร้าได้ดีขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มระดับของสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทที่ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น อย่างเช่น เอนดอร์ฟิน (endorphins) ช่วยคลายกล้ามเนื้อ หลับลึกขึ้น ลดฮอร์โมนความเครียด และมีผลให้จิตใจสงบขึ้น 3.ทำบุญ คือ การเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆด้านจิตอาสา จิตสาธารณะ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่ยากลำบากกว่าเรา จะทำให้เราได้รับความสุขทางใจ และผู้ได้รับการช่วยเหลือก็จะได้รับความสุขเช่นกัน การทำบุญเพื่อให้จิตใจแจ่มใสนั้นมีผลวิจัยว่าการทำบุญจะช่วยให้มีความสุขซึ่งส่งผลดีต่อสภาพจิตใจได้ “หากทำได้ปฏิบัติได้ตามหลัก 3 ข้อที่แนะนำคือ "ทำใจ-ทำกาย-ทำบุญ" ทุกคนก็จะมีสุขภาพใจ และสุขภาพกายที่ดี และสามารถป้องกันปัญหาสุขภาพจิตต่างๆได้ ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พบกับความสุขในการดำเนินชีวิตรับปีกระต่าย 2554 นี้” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021495527 กรมสุขภาพจิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ