กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB
TMB Analytics หรือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 2.25 ในการประชุมครั้งแรกของปี วันที่ 12 มกราคมนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ได้แก่
1.อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่ง กนง. ใช้เป็นกรอบเป้าหมายในการกำหนดนโยบายการเงิน (Inflation Targeting) ให้อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 -3.0 ได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 1.4 มาอยู่ที่ระดับกลางของกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นจากหลายเดือนก่อนหน้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 1.1 เท่านั้น โดยเป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงมากในครึ่งแรกของปีที่แล้ว ซึ่งจากการศึกษาของเราพบว่า กลไกการส่งผ่านจากระบบเศรษฐกิจไทยกลับมาสู่ระดับราคา (Price Transmission) จะใช้เวลาประมาณสองไตรมาส อีกทั้ง ยังมีปัจจัยกดดันให้เกิดเงินเฟ้อรออยู่ในปีใหม่นี้เรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะเป็น
-การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 8-17 บาท และ เงินเดือนข้าราชการ โดยจากการศึกษาของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นทุก 10 บาท จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าแรงในภาคการผลิตและบริการอื่นๆเพิ่มด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะแทรกอยู่ในทุกสินค้าและบริการ จนทำให้มีการปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นได้
-ราคาวัตถุดิบ และ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนผลผลิตเช่น ผลปาล์มสด จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตรอย่างน้ำมันปาล์มขวดต้องปรับราคาขึ้นอีกถึงร้อยละ 30 เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับ หากมาตรการดูแลราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศ อาทิ ก๊าซแอลพีจี หรือ น้ำมันบางประเภท เป็นไปในทิศทางให้สะท้อนความเป็นไปของราคาในตลาดโลกมากขึ้น ต้นทุนเชื้อเพลิงก็จะเป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานได้ ดังที่ปรากฎมาแล้วเมื่อกลางปี 2551
2.อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำกว่าศูนย์ หากเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศในเอเชีย ไทยเป็นอันดับสามที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบมากที่สุดรองจากจีนและอินเดีย และ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็อยู่ในระดับต่ำมากนานมากต่อเนื่อง จากการลดดอกเบี้ยในรอบทิศทางดอกเบี้ยขาลงเมื่อปลายปี 2551 เป็นร้อยละ 2.75 จาก ร้อยละ 3.75 จนเวลาล่วงเลยมาแล้วสองปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะอยู่ในระดับต่ำมากนานต่อเนื่องเช่นนี้ การขึ้นดอกเบี้ยให้กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเศรษฐกิจเติบโตดีจึงเป็นเรื่องของการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) ประเมินว่า จนถึงสิ้นปี 2554 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะถูกปรับขึ้นเป็นร้อยละ 3.00-3.25 หรือ เพิ่มขึ้น 100-125 basis points จากปลายปี 2553 โดยหากครั้งแรกปรับขึ้นแล้ว ก็จะเหลือการประชุมอีกเจ็ดครั้งในเดือนมีนาคม เมษายน มิถุนายน กรกฎาคม สิหาคม ตุลาคม และ พฤศจิกายน ซึ่งแนวทางการปรับขึ้นในช่วงใดก็จะต้องพิจารณาแรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ