“หนอนไหม กับเส้นใยที่ถักทอ”

ข่าวทั่วไป Monday January 10, 2011 17:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--บ้านพีอาร์ “การเรียนอะไรก็ตาม หากเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเด็กแล้วไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากสักเพียงใดก็จะไม่เกินความสามารถที่จะเรียนรู้” ต้องถือว่าเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องอย่างมาก ยิ่งเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาชมนิทรรศการการเรียนรู้แบบโครงงาน Project Approach ที่ทางโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่จัดเป็นประจำทุกปี จนปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว ทำให้ยิ่งทึ่งกับความสามารถของน้องหนูตัวน้อย ที่ช่วยกันจัดห้องนิทรรศการแสดงถึงหัวข้อที่ได้เลือกเรียนรู้อย่างลึกซึ้งเป็นเวลา 7 สัปดาห์ควบคู่กับการเรียนรู้ตามหลักสูตร ตามมาดูกันดีกว่าว่าเรื่อง “หนอนไหม” ของน้องๆห้องอนุบาล 3/1 จะน่าสนใจขนาดไหน ในการเรียนรู้แบบโครงงาน “Project Approach” จะเริ่มโดยคุณครูจะให้เด็ก ๆ นำเสนอหัวข้อที่สนใจหรือที่อยากจะ เรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งเด็กๆ ก็ได้เสนอมาหลากหลายหัวข้อ อาทิเช่น เรื่อง หนอนไหม, เพลง, ตุ๊กตา และถั่วฝักยาว ซึ่งจากการสำรวจและให้โหวตแล้วพบว่า เรื่อง “หนอนไหม” มีคะแนนโหวตความสนใจมากที่สุดถึง 14 คนเมื่อเลือกหัวข้อที่จะเรียนรู้ได้แล้ว เด็กๆ ก็เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่ต้องการจะศึกษา เด็กจะช่วยกันตั้งคำถามที่ต้องการอยากรู้เกี่ยวกับ “หนอนไหม” ก่อนที่จะเริ่มทำการสืบค้นหาข้อมูล เช่น หนอนไหมคืออะไร มีกี่ชนิด? การเลี้ยงไหม หนอนไหมกินอะไรเป็นอาหาร? ประโยชน์ของไหม การทอผ้าไหม? เป็นต้น ขั้นตอนการเรียนรู้ขั้นที่ 2 คือระยะสืบค้น ถึงเวลาที่เด็ก ๆ ต้องออกไปสืบค้นเรื่องราวของหนอนไหมกันอย่างจริงจัง ซึ่งเด็กทุกคนต่างก็ทำการบ้านมาล่วงหน้า ทั้งหาความรู้จาก internet โดยเด็กๆได้ดูวงจรชีวิตของหนอนไหมจาก youtube อีกทั้งยังได้ร่วมกันปลูกต้นใบหม่อน และต้นละหุ่งซึ่งเป็นอาหารของหนอนไหมที่แปลงหน้าห้องเรียน ซึ่งน้องขนมจีน ด.ญ.สิตา เล่าให้ฟังว่า “ใบหม่อนจะมีสีเขียวออกน้ำตาล จับดูฝืดมือ มีลักษณะกลมปลายแหลม แต่ใบละหุ่งจะมีสีแดงน้ำตาล จับแล้วลื่นมือ ลักษณะใบเป็นแฉกๆ” นอกจากจะได้ทดลองปลูกต้นหม่อนและต้นละหุ่งจริงๆแล้ว เด็กๆยังได้รับทดลองเลี้ยงหนอนไหมกินใบหม่อน ได้แก่ หนอนไหมอีรี่ หนอนไหมนางน้อย หนอนไหมนางลอย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากภาคกีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งช่วยให้น้องๆ ได้เฝ้าสังเกตวงจรชีวิตของหนอนไหมกันอย่างใกล้ชิด ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหนอน ตั้งแต่เป็นดักแด้และเริ่มที่จะพ่นใยออกมาห้อหุ้มตัวเอง “ไหม คือ เส้นใยที่พ่นออกมาจากปากของตัวหนอนไหมที่โตเต็มวัย เพื่อมาห่อหุ้มตัว ป้องกันศัตรูทางธรรมชาติ ในขณะที่หนอนไหมลอกคราบจากหนอนไหมเป็นตัวดักแด้ และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้” เสียงเจี้อยแจ้วจากวิทยากรตัวน้อยน้องพั้นช์ ด.ญ.พนัชกรและน้องวลัน ด.ญ.วลัญช์ ที่อธิบายสรุปวงจรชีวิตของหนอนไหมว่า “รังไหมมีสีเหลืองกับสีขาว สีขาวจะเป็นของหนอนไหมอีรี่ รังไหมเป็นรูปทรงรีมีเส้นใยอยู่รอบๆ ข้างในรังไหมมีดักแด้ เส้นไยจะนิ่มและลื่นด้วย รังไหมหนอนไหมอีรี่จะมีขนาดใหญ่กว่ารังไหมของหนอนไหม” ในระหว่างการสืบค้นหาคำตอบของเด็กๆ เกี่ยวกับหนอนไหม คุณครูพาเด็กๆ ออกไปทัศนศึกษาที่ภาคกีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดีจากอาจารย์แผด สตารัตน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่และนิสิต โดยเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหนอนไหม การให้อาหาร ซึ่งเด็กๆ ก็ได้สำรวจ จับเล่นกับหนอนไหมกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับได้รับความรู้กันอย่างเต็มแน่น นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่แหล่งเรียนรู้ “ชุมชนบ้านครัว” ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าไหมส่งขายให้กับผ้าไหมแบรนด์ดังระดับโลก จิม ทอมป์สัน ณ ที่ชุมชนบ้านครัว น้องๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับการต้มไหมดิบ การปั่นไหม การย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าไหม ซึ่งน้องโชกุน ด.ช. รชตเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับในวันนี้ให้ฟังว่า “ได้รู้เรื่องการเอาไหมมาต้ม ก่อนต้มเอาเส้นไหมดิบมาแขวนไว้บนหวาย แล้วก็จุ่มลงไปบนหม้อต้มใช้ความร้อนในการต้ม 80-90 องศา ใช้เวลาต้ม 45 นาที แล้วเอาหวายแขวนไว้ให้น้ำหยดออกจากเส้นไหมให้หมาด แล้วเอาไหมไปปั่นให้แห้งใช้ความร้อนจากไฟฟ้า 5 นาที ได้ดูการตากเส้นไหม 1 วันไหมก็จะแห้ง ก่อนเอาไปตากต้องกระตุกเส้นไหมก่อน เพื่อไม่ให้เส้นไห มพันกัน” สถานที่สุดท้ายที่น้องๆได้ไปทัศนศึกษาคือร้าน The Loom ที่แปลว่าเครื่องทอผ้า ที่ร้านเด็กๆ ต่างตื่นเต้นกันยกใหญ่เมื่อได้รู้ว่าจะได้ทดลองทอผ้ากันจริงๆ โดยน้องๆได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มสลับการนั่งทอทีละคน โดยได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากวิทยากรใจดี น้องๆ ต่างตั้งอกตั้งใจเรียนรู้จนสามารถทอไหมเป็นผืนผ้าอย่างสวยงามได้กลุ่มละ 1 ผืน การพาเด็กไปเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆนี้ ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านหรือโรงเรียนเท่านั้น แต่ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้มากมายที่เด็กๆจะหาคำตอบให้แก่ข้อสงสัยต่างๆของเด็กได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่เที่ยงตรงถูกต้องด้วย นอกจากการนำเส้นไหมไปทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ แล้ว ไหมยังมีประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย ได้แก่ เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางค์ เช่น สบู่โปรตีนไหม รังไหมขัดหน้า ลิปบาล์ม ไหมขัดฟัน ไหมเย็บแผล ซึ่งเด็กๆต่างก็ช่วยกันหาสิ่งของเหล่านี้มาแสดงในนิทรรศการในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ระยะที่ 3 คือ ระยะสรุป เด็ก ๆ จะได้ร่วมกันสรุปถึงสิ่งต่างๆ ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้มาและร่วมกันจัดนิทรรศการภายในห้อง น้องๆต่างให้ร่วมมือกันตกแต่งห้อง ทำของที่ระลึกกับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการ ซึ่งทำให้ผู้เข้าชมต่างทึ่งกับความสามารถที่เกินตัวของเด็กอนุบาล เมื่อชมนิทรรศการเสร็จแล้วจะได้รับของที่ระลึกเป็นดอกไม้และตุ๊กตาที่น้องๆ ช่วยกันประดิษฐ์ด้วยตัวเอง จากรังไหมติดไม้ติดมือกลับบ้านกันทุกคน ข้อมูลเพิ่มเติม ความเป็นมานิทรรศการ Project Approach เด็ก ๆ ทุกคนของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ จะใช้เวลา 7 สัปดาห์ในการเรียนรู้โครงงาน Project Approach โดยแต่ละห้องจะตกลงเลือกเรื่องที่เด็กสนใจอยากเรียนรู้กันห้องละหนึ่งเรื่อง หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตามหลักสูตรวิชา ต่าง ๆ ของโรงเรียน การเรียนรู้เรื่องที่เด็ก ๆ เลือกตามแบบ Project Approach นั้น เด็ก ๆ ได้คิดและทำการสืบค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ สรุปข้อมูลและเผยแพร่ให้เพื่อนในห้องได้รับรู้ เพื่อพิจารณาข้อมูลและเรียนรู้ร่วมกันมาโดยตลอด เมื่อเด็ก ๆ พอใจในข้อมูลที่รวบรวมได้แล้ว เด็กและครูช่วยกันจัดนิทรรศการแสดงให้เห็นวิธีการคิด การเรียนรู้ และข้อมูลที่สืบค้นมาได้ รวมถึงรวบรวมผลงานจากกิจกรรมที่เด็ก ๆ ร่วมกันทำ เพื่อจัดแสดงถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนห้องอื่น ผู้ปกครอง เพื่อน ๆ นักวิชาการจากต่างโรงเรียน หรือญาติ เข้าชมนิทรรศการ ดูผลงาน ความสามารถ และให้กำลังใจเด็ก ๆ ซึ่งทุกคนตั้งใจกันอย่างมากที่จะนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองค่ะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ คุณปทิดา (พร) หรือคุณรวิกานต์ (มล) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-292-9739 บ้านพีอาร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ