กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ก.พลังงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ความคืบหน้าของการเจรจาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว มีแนวโน้มที่ดี โดยปัจจุบันไทยและ สปป.ลาว กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ขณะนี้มีโครงการความร่วมมือแล้วและที่จะดำเนินการในปี 2550 นี้ รวมทั้งสิ้น 8 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าขายไฟฟ้าเข้าระบบ 3,292 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 4 โครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน-หินบุน จำนวน 187 เมกะวัตต์ และโครงการห้วยเฮาะ จำนวน 126 เมกะวัตต์ ทั้งสองโครงการมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบให้ไทยแล้ว และโครงการน้ำเทิน 2 จำนวน 920 เมกะวัตต์ และโครงการน้ำงึม 2 จำนวน 615 เมกะวัตต์ มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2552 และ 2554 ตามลำดับ
นอกจากนี้อีก 4 โครงการ ที่คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญา PPA ภายในปี 2550 ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 จำนวน 523 เมกะวัตต์ โครงการน้ำงึม 3 จำนวน 440 เมกะวัตต์ โครงการน้ำเงี้ยบ จำนวน 261 เมกะวัตต์ และโครงการเทิน-หินบุน ส่วนขยาย จำนวน 220 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม จากทั้ง 8 โครงการ ยังเหลือปริมาณไฟฟ้าที่ไทยจะรับซื้อจาก สปป.ลาว อีกประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ จะครบ 5,000 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาอีกหนึ่งโครงการ ได้แก่ โครงการหงสาลิกไนต์ จำนวน 1,650 เมกะวัตต์ แม้จะอยู่ในแผนแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงพลังงานไทยจึงได้เจรจากับกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว ในการเจรจาโครงการอื่นที่มีความเป็นไปได้ขนานกันไป ซึ่งอาจทำให้การซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มมากกว่า 5,000 เมกะวัตต์
เนื่องจากพบว่ายังมีโครงการที่มีศักยภาพอีกจำนวนมาก เช่น โครงการน้ำบาก 1 จำนวน 115 เมกะวัตต์ โครงการน้ำบาก 2 จำนวน 75 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการน้ำงึม 2 และสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าระบบโดยใช้สายส่งเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ได้แก่ เซเปียน-เซน้ำน้อย 390 เมกะวัตต์ ดอนสะหง 240 เมกะวัตต์ น้ำกง 240 เมกะวัตต์ และเซกอง 440 เมกะวัตต์ สำหรับโครงการทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ได้ให้สัมปทานแก่ผู้ลงทุนจีนไปแล้ว
“ประโยชน์ที่ได้รับของการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว นอกจากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย กับ สปป.ลาว แล้ว ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังทำให้ สปป.ลาว มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายให้กับไทย โดยปีที่ผ่านมา สปป.ลาว มีรายได้ถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ประเทศไทยการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ถือเป็นนโยบายกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น และมีราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำ เพราะผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว