กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--ปภ.
ไฟฟ้าสถิตเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากประจุไฟฟ้าขั้วบวกและขั้วลบของผิววัตถุไม่เท่ากัน ทำให้เกิดแรงดึงดูด การผลักกัน และอาจทำให้เกิดประกายไฟได้ โดยมีสาเหตุมาจากการเสียดสีของร่างกายกับวัสดุ ซึ่งมักเกิดในฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศแห้งและชื้น เมื่อร่างกายมีประจุไฟฟ้ามาก หากไปสัมผัสกับสิ่งของที่อยู่บนผิวดินจะเกิดการถ่ายเทประจุไฟฟ้าออก ทำให้รู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะหากเกิดไฟฟ้าสถิตระหว่างคนที่มีประจุไฟฟ้าปริมาณมากในร่างกายกับรถยนต์อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อปลอดภัย ขอแนะวิธีป้องกันและแก้ไขการเกิดไฟฟ้าสถิตขณะใช้รถยนต์ ดังนี้
วิธีป้องกัน
-หลีกเลี่ยงการเปิดปิดประตู การเดินเข้าออก การสัมผัสตัวถังรถและการเอามือลูบเสื้อผ้า ร่างกายและผมในระหว่างการเติมน้ำมัน เพราะหากไปสัมผัสกับวัตถุที่มีไฟฟ้าสถิต ไอน้ำมันจะทำปฏิกิริยาทำให้เกิดประกายไฟและเกิดระเบิดขึ้นได้
-กรณีน้ำมันหกลงพื้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ รีโมทคอนโทรล และการสตาร์ทรถ เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ไปยังน้ำมันที่หกลงพื้น จนเกิดการระเบิด
-ให้พนักงานสถานีบริการน้ำมันทำความสะอาดคราบน้ำมันที่อาจหกเลอะบริเวณฝาปิดถังน้ำมันหลังเติมน้ำมันรถทุกครั้ง เพื่อลดการเกิดไฟฟ้าสถิตที่อาจเกิดประกายไฟและเพลิงไหม้
วิธีแก้ไข
-ก่อนเปิดหรือปิดประตูรถ ให้ใช้มือจับกระจกรถยนต์ก่อนที่จะสัมผัสตัวรถ เพราะกระจกเป็นฉนวนที่ไม่นำไฟฟ้า จึงช่วยลดการเกิดไฟฟ้าสถิตได้
-ถือกุญแจและรีโมทไว้ในมือหลังลงจากรถแล้วปิดล็อครถ จะช่วยสลายไฟฟ้าสถิตได้
-ใช้ข้อศอกหรือเข่าทาบกับประตูรถขณะลงจากรถแทนการใช้มือ จะช่วยลดความรุนแรงของไฟฟ้าสถิตได้
-ใช้สเปรย์กำจัดไฟฟ้าสถิตฉีดบริเวณฝ่ามือ เพื่อลดแรงเสียดทานและป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต
-ผูกโซ่ใต้ท้องรถหรือหาวัตถุมาลากกับพื้นถนน เพื่อให้ถ่ายเทประจุไฟฟ้าลงสู่พื้น ทำให้ไม่รู้สึกว่าถูกไฟฟ้าดูดขณะเกิดไฟฟ้าสถิต รวมถึงป้องกันเพลิงไหม้รถจากไฟฟ้าสถิต
นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวมักมีหมอกปกคลุมในหลายพื้นที่ ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลงจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ เพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรเปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอก จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ขับรถเร็วเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน กรณีหมอกลงหนาทึบ ควรจอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน แล้วรอให้หมอกเบาบางจนสามารถมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน จึงค่อยเดินทางต่อ จะปลอดภัยมากกว่า
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย