กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--คต.
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: U.S. EPA) และสำนักงานบริหารความปลอดภัยทางการจราจรบนทางหลวงของสหรัฐฯ (National Highway Traffic Safety Administration: NHTSA) อยู่ระหว่างพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทบทวนการประกาศใช้ฉลากประหยัดพลังงานที่จะใช้กับรถยนต์ใหม่ รวมถึงรถบรรทุกขนาดเล็กที่จำหน่ายในสหรัฐฯ แทนฉลากแบบเดิมที่ได้ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ฉลากรูปแบบชนิดใหม่นี้ จะเพิ่มข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ข้อมูลการประหยัดเชื้อเพลิง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) โดยจะแสดงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปลดปล่อยออกมาต่อไมล์ รวมถึงตัวชี้วัดก๊าซที่ก่อให้เกิดมลภาวะอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลเดิม ได้แก่ ศักยภาพในการประหยัดเชื้อเพลิง ($) เมื่อเปรียบเทียบกับยานพาหนะโดยทั่วไป ในช่วงเวลา ๕ ปี และราคาของเชื้อเพลิง ($) ที่ต้องใช้ในหนึ่งปีโดยประมาณ ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหนึ่งของการใช้มาตรการควบคุมการปล่อย CO2 อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ฉลากดังกล่าวยังออกแบบให้สามารถใช้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล รวมทั้งเชื้อเพลิงที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และจะติดสัญลักษณ์ QR-Code (Quick Response Code) ซึ่งเป็นรหัสหรือสัญลักษณ์ที่ใช้แทนข้อมูลต่าง ๆ ที่ใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์และสามารถถอดความและประมวลผลได้เร็วกว่าบาร์โค้ดทั่วไป ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะของยานยนต์ด้วยโทรศัพท์แบบอัจฉริยะหรือสมาร์ทโฟนได้อย่างละเอียดและรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากประหยัดพลังงานสำหรับรถยนต์ในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องสภาวะโลกร้อน โดยมุ่งเน้นการลด GHG จากการใช้สินค้าของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี EPA มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการนี้กับสินค้าประเภทอื่น ๆ ด้วยในอนาคต
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้ภาครัฐของไทยมีโครงการส่งเสริมการใช้ฉลาก Carbon Footprint ติดบนผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้าส่งออกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและก่อให้เกิดการยอมรับจากประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังเป็นมาตรการหนึ่งในการร่วมลดปัญหาโลกร้อนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการไทยเพียง ๒๖ บริษัท ได้แก่ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด การบินไทย จำกัด มหาชน และ ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน เป็นต้น และครอบคลุมสินค้า ๔๖ ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อไก่สด ซีพี เครื่องดื่มโคคา-โคลา ชนิดบรรจุกระป๋อง กระเบื้องเซรามิคบุผนัง ข้าวแกงเขียวหวานไก่ และน้ำสับปะรดเข้มข้น ๖๕ Brix ทิปโก้ เป็นต้นเท่านั้น นับว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ ประเทศลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ได้ตื่นตัวและมีโครงการฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ดี ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นอียู, สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เกาหลี และแคนาดา ได้นำมาตรการทางการค้าโดยสมัครใจดังกล่าวไปใช้ให้ครอบคลุมสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากไทยต้องติดฉลาก Carbon Footprint ด้วย
ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อฉลาก Carbon Footprint และตระหนักถึงผลกระทบต่อธุรกิจหากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าได้ รวมทั้งการลดโอกาสทางการค้าในยุคโลกร้อน อนึ่งสามารถศึกษารายละเอียดของการใช้มาตรการการลดโลกร้อนของ US ได้ที่เว็บไซต์http://www.epa.gov/ fueleconomy/label.htm#comment