กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--โอเค แมส
“งานแฮนด์เมด” งานประดิษฐ์ทำมือ กำลังได้รับความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ด้วยความคิดไอเดียสร้างสรรค์นำเสนอผ่านสิ่งของทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่ และเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยการตกแต่ง ผ่านขั้นตอนการทำที่ประณีต ตัดต่อ ตกแต่ง เรียงร้อยให้สวยงาม แค่นี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง
ปัจจุบันไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบกับยุคเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาสนใจงานประดิษฐ์ทำมือ งานที่มีต้นทุนต่ำ ความคิดแปลกที่ไม่เหมือนใคร และสามารถสร้างคุณค่าทางจิตใจและสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี งานประดิษฐ์ทำมือมีมากมายหลายอย่าง อาทิ กระเป๋าสาน, พวงกุญแจ, การ์ดอวยพร, สมุดไดอารี่, กรอบรูป,ตะกร้า เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้มทร.พระนคร จึงมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะประดิษฐ์ “ตะกร้าทำมือ” ตะกร้าหวายธรรมดาจากภูมิปัญญาชาวอ่างทองนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการตกแต่งลวดลาย ให้มีสีสันเป็นที่น่าสนใจของประชาชน เพื่อนำไปเป็นภาชนะของขวัญในเทศกาลต่างๆ ให้แก่ผู้คน และยังสอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
รศ.ดวงสุดา เตโชติรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า “ มทร.พระนครได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งโลกอาชีพ มีกำหนดนโยบายการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยมุ่งเน้นให้คณาจารย์ และนักศึกษานำสิ่งของที่เหลือใช้มาประยุกต์ร้อยเรียง ตกแต่งให้สวยงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าความสวยงามและน่าใช้ให้แก่สิ่งของนั้นๆ และสามารถสร้างประโยชน์ในการใช้สอยได้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ และนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และสามารถนำความคิดนี้ไปต่อยอดประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองต่อไป”
รศ.บุษรา สร้อยระย้า รองอธิการบดีด้านวางแผนและพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ผู้คิดค้นออกแบบลวดลายตะกร้าทำมือเปิดเผยว่า “ ในทุก ๆ เทศกาลปีใหม่ของทุกปีหรือเทศกาลที่มีการแสดงความยินดี มทร. พระนคร จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นรูปแบบในการผลิตของขวัญที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในปีนี้มทร.พระนครมีแนวคิดเน้นหนักในเรื่องศิลปะความเป็นไทย โดยการออกแบบตะกร้าหวายงานฝีมือที่มีขายทั่วไป มาเพิ่มมูลค่าด้วยการตกแต่งลวดลาย ผูกโบว์ หรือประดับดอกไม้สร้างสีสันให้แก่ตะกร้าให้เป็นที่น่าสนใจ สามารถดึงดูดผู้ใช้ ให้เลือกซื้อเพื่อนำไปใช้สอย หรือนำไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ อาทิ เทศกาลปีใหม่, เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น อีกทั้งตะกร้านี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้สอยตามสมควร ได้แก่ นำไปเป็นตะกร้าใส่บาตร หรือปิ่นโต เพื่อไปทำบุญที่วัด, ตะกร้าปิกนิคตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น
รศ.บุษรา กล่าวอีกว่า การออกแบบลายตะกร้าด้วยการตกแต่งลวดลายนี้ ไม่ใช่ศิลปะแนวใหม่ แต่มีพื้นฐานมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงเล็งเห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ของเราได้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ไม่ยาก ได้แก่ กาว กระดาษ ตะกร้า แปรงทาสี สเปย์เคลือบเงา ริบบิ้น โบว์ ดอกไม้ ซึ่งในการดำเนินงานสอนมีอาจารย์รุ่งฤทัย รำพึงจิต จากคณะคหกรรมศาสตร์เป็นผู้ฝึกสอนนักศึกษา โดยมีขั้นตอนในการทำดังนี้ ขั้นตอนแรกเริ่มจากการวัดกระดาษให้ขนาดใหญ่กว่าตะกร้าเพียงเล็กน้อย จากนั้นทากาวที่ตะกร้าให้ทั่ว นำกระดาษที่ตัดไว้แล้วมาลอกออกแล้วนำมาติดกับตะกร้า ให้กระดาษแนบกับตะกร้า แต่ต้องระวังอย่าให้กระดาษเป็นรอยยับ นำกาวมาทาให้ทั่วตะกร้าอีก 1 รอบ แล้วนำฟองน้ำชุบน้ำและกดแปะทับให้ทั่วตะกร้า ขั้นตอนนี้สำคัญมากต้องค่อยๆ แปะ ระวังอย่าให้กระดาษขาด และอย่าให้เกิดรอยยับ รอจนกว่าตะกร้าจะแห้งแล้วนำสเปย์เคลือบเงาฉีดให้ทั่วทั้งตะกร้า รอจนแห้ง มาถึงขั้นตอนสุดท้ายนำริบบิ้นหรือโบว์มาตกแต่งบริเวณมุมด้านข้างของตะกร้า เพื่อเพิ่มความสวยงามเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
จุดเด่นของตะกร้านี้คือ เป็นงานฝีมือละเอียดประณีตไม่เหมือนใคร มีลวดลายที่สวยงาม ราคาต้นทุนต่ำ ทำได้ง่าย และเพิ่มมูลค่าตะกร้าให้มีราคาสูงขึ้น อีกทั้งยังสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับอีกด้วย
เพียงแค่คุณมีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียเก๋ๆ แค่นี้คุณก็จะได้ภาชนะที่ใส่ของขวัญลวดลายสวยงามที่ถูกใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้สนใจที่จะฝึกอบรมสอนทำตะกร้าทำมือสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อาจารย์รุ่งฤทัย รำพึงจิต คณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร.085-116-1908, 02-281-9231-4