กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--สสวท.
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ภายใต้การบริหารของ รองศาสตราจารย์ ดร. ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการคนใหม่ เน้นหนักในด้านความโปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ประธานกรรมการ สสวท. ได้เน้นย้ำว่า ภารกิจของสสวท.นั้นมุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตามแนวทางเศรษฐกิจยั่งยืน บนพื้นฐานของสังคมที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเหมาะสมและก้าวทันความก้าวหน้าของสังคมโลก ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี
นางดวงสมร คล่องสารา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถยึดหรือนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับหรือประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้ โดยกระตุ้นให้นักเรียนคิดแก้ปัญหาและสร้างสรรค์จากวัสดุท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น ใช้ขวดน้ำอัดลมพลาสติกขนาดใหญ่ตัดขวางแทนซื้ออ่างเลี้ยงปลาราคาแพง ใช้สื่อการสอนที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น ใช้สีจากดอกไม้ทำสื่อทดสอบความเป็นกรด-เบส ออกแบบกิจกรรมการสอนที่บูรณาการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ได้คิดแก้ปัญหาและหาทางพัฒนาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น หากมีปลาสลิดเป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ทำอย่างไรจะยกระดับคุณภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เช่น ใช้มุ้งกันแมลงวันเวลาตากปลา ประดิษฐ์วัสดุห่อหุ้มที่ดึงดูดใจ คิดค้นตู้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
“ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติผ่านการเรียนทั้งในชั้นเรียน และแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น ปลูกจิตสำนึกในการบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถหมุนเวียนทรัพยากรใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว เรียนรู้การอนุรักษ์ที่ถูกต้อง โดยเมื่อใช้ทรัพยากรแล้วต้องบำรุงรักษาไม่ใช่หมดไป นั่นคือ ใช้ด้วยความพอเพียงเคียงข้างความยั่งยืน และนอกจากนี้ต้องรู้จักวางแผนใช้ประโยชน์ของทรัพยากรด้วย เช่น โรงเรียนมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์จำกัด ก็ต้องวางแผนบริหารการใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่” นางดวงสมรกล่าว
การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้เกี่ยวกับข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงก็สามารถทำได้หลากหลาย อาทิ กิจกรรมการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากชุมชนของตนเองโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เสริมเข้าไป กิจกรรมให้นักเรียนออกแบบสวนไร่นาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยอธิบายให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงได้
ล่าสุด สสวท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในโรงเรียน ครั้งที่ 17 (วทร. 17) ในหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียงเคียงคู่ไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม 2550 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุม เชิงปฏิบัติการ การอภิปรายทางวิชาการ คลีนิควิชาการ การเสนอผลงานทางวิชาการของครูนิทรรศการและ การแสดงผลงานจากภาครัฐและเอกชน โครงงานวิทยาศาสตร์ การจัดแสดงและสาธิต เครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน
ครูและผู้สนใจสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อที่จะนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนต่อไป โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ประสานงาน วทร. 17 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ หมายเลขโทรศัพท์สายตรง 0-5672-1583 หรือ 0-5671-1396 ต่อ 2708, 1410 โทรสาร 0-5672-2217 เว็บไซต์ www.pcru.ac.th อีเมล์ scipcru@yahoo.com หรือ noinun_8@hotmail.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net