“ปิยะบุตร” นำทัพ เยือนอีสาน เปิดสัมมนา สร้างภูมิ SMEs เกษตร

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2007 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม เสริมความแข็งแกร่ง SMEs ภาคอีสานจัดสัมมนา “อุตสาหกรรมและการลงทุนฯ ครั้งที่ 34” สอนผู้ประกอบการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และติดตามงาน 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ช่วยธุรกิจรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “อุตสาหกรรมและการลงทุน: ยุทธศาสตร์สู่ความเข้มแข็ง” ครั้งที่ 34 ณ โรงแรมรอยัลแม่โขงหนองคาย จ.หนองคาย ว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกระดับโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่นานและจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงมากมายและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำความรู้พร้อมหน่วยงานต่างๆในสังกัดมาพบผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคเป็นประจำต่อเนื่องตลอด 5 ปี และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินกิจการ เพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้”
ในการจัดสัมมนาภาคเช้า ผู้เข้าสัมมนาจะได้รับฟังการปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และการอภิปรายเรื่อง “ประกอบกิจการอย่างไรให้เข้มแข็งและยั่งยืน” สำหรับภาคบ่ายจะเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกอบรมอาชีพ 6 หลักสูตร ได้แก่ การทำซาลาเปา การทำน้ำผลไม้ การทำของชำร่วยเทียนเจล การเพ้นท์เล็บ การทำยาหม่องน้ำ และการร้อยเครื่องประดับ รวมทั้งบริการคลินิคอุตสาหกรรมให้คำปรึกษาแนะนำในการประกอบกิจการแก่ผู้ประกอบการ การสัมมนาดังกล่าวจึงเป็นการสร้างผู้ประกอบการใหม่และพัฒนาผู้ประกอบการเดิมด้วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมพร้อมติดตามความคืบหน้าสถานประกอบการนำร่องตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวท่าบ่อเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จ.หนองคาย และโรงสีข้าวอุดรชัยธนาสินเจริญ จ.อุดรธานี และกล่าวว่า “ผู้ประกอบการ SMEs แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรในต่างจังหวัดยังขาดการวางแผนที่ดีเพื่อลดต้นทุนการใช้พลังงานและความสูญเสียต่างๆในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการนำร่องในโครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร จะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างน้อย 3 ใน 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการวัตถุดิบและโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนทรัพยากรและพลังงาน การยกระดับมาตรฐาน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการรวม 150 ราย ได้เพิ่มประสิทธิภาพและแปลงความสูญเปล่าเป็นผลกำไรได้อย่างเป็นรูปธรรมและน่าพอใจ”
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า หลักเกณฑ์คัดเลือกผู้ประกอบการนำร่องภาคอีสาน คือต้องเป็นวิสาหกิจแปรรูปเกษตรของคนไทย มีเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท มีความพร้อมและต้องสนับสนุนพัฒนากิจการตามแผนของทีมที่ปรึกษาซึ่งเข้าไปศึกษาข้อบกพร่อง และเสริมทักษะการบริหารจัดการให้กับผู้ประกอบการ โดยโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวท่าบ่อเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จ.หนองคาย มีแผนพัฒนาศักยภาพ 3 ด้าน คือ การประหยัดพลังงาน การพัฒนาระบบมาตรฐาน ISO 9000 และ GMP และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
มณฑิรา นาควิเชียร โทร 02-6633226 ต่อ 71

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ