กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GTZ) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติกับส่วนราชการ 7 แห่ง ในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อสนับสนุนข้าราชการเป็นคณะวิทยากร CDBRM ประจำจังหวัดตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (GTZ)ในด้านการพัฒนาหลักสูตรและบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM) โดยได้ดำเนินการพัฒนาโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเสี่ยงภัยอย่างยั่งยืน จึงได้สร้างวิทยากร CBDRM ประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อฝึกอบรมผู้นำชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยได้ขอความร่วมมือจากส่วนราชการอื่นๆ ให้ส่งข้าราชการร่วมเป็นวิทยากร รวมจังหวัดละ 8 คน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงศึกษาธิการ , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด , ที่ทำการปกครองจังหวัด , สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด , สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด และเจ้าหน้าที่เหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งจะได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ (Program on Strengthening Communities in Disaster Management) ระหว่าง GTZ กับกรมป้องกันฯและหัวหน้าส่วนราชการ ทั้ง 7 แห่ง เพื่อสนับสนุนข้าราชการในสังกัดให้ร่วมเป็นคณะวิทยากร CBDRM ประจำจังหวัด ในวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ณ ห้องประชุม 352 กรมป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัย นอกจากนี้ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด คัดเลือกพื้นที่จัดการฝึกอบรมโดยร่วมกับชุมชนในการจัดทำแผนจัดการภัยพิบัติ และฝึกซ้อมแผนอพยพประชาชนเมื่อเกิดภัย ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยจะจัดอบรมจำนวน 120 รุ่นๆ ละ 3 ชุมชน / หมู่บ้าน ซึ่งได้กำหนดที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2550 ณ ชุมชน / หมู่บ้านเสี่ยงภัยทั้ง 75 จังหวัด และมอบหมายให้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินงานติดตาม และประเมินผลโครงการฯ ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตความรับผิดชอบ เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านเสี่ยงภัยมีความเข้มแข็งสามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป