กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พ.ศ. 2554 ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง แผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้พร้อมใช้งานได้ทันที รวมถึงวางแผนปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแผนการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำกับกรมชลประทาน พบว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเริ่มมีปริมาณน้ำลดลงจนน้อยกว่าปริมาณน้ำใน ปี 2553 เป็นเหตุให้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานสถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน ปี 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พ.ศ. 2554 ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง แผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง สำรวจวัสดุ อุปกรณ์สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้พร้อมใช้งานได้ทันที ตรวจสอบแหล่งน้ำ ภาชนะเก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างเพียงพอ สำหรับเกษตรกรให้วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ประจำปี 2554 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแผนการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2554 ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 15.29 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 12.60 ล้านไร่ พืชไร่และผัก 2.69 ล้านไร่ โดยกำหนดจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) การอุปโภค บริโภค และการประปา 2) การรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ 3) การเกษตรกรรม 4) การอุตสาหกรรม สำหรับการให้ความช่วยเหลือให้จังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ท้ายนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ในระดับหนึ่ง
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย