สถานการณ์ความมั่นคงพืชอาหารจีนปี ๕๔ เติบโตท่ามกลางความเปราะบาง

ข่าวทั่วไป Monday January 17, 2011 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง ท่ามกลางกระแสความชื่นมื่นของวงการเกษตรจีนที่รัฐมนตรีนายHan Changfu ออกมาประกาศความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตธัญพืชต่อเนื่องมาตลอด ๗ ปี จากจำนวน ๔๓๐ ล้านตัน ในปี ๒๕๔๖ เพิ่มเป็น ๕๔๖ ล้านตันในปี ๒๕๕๓ กลับมีผู้เชี่ยวชาญจีนหลายคนออกมาเตือนถึงภัยแฝงผลผลิตเกษตรจีนซึ่งยังต้องเผชิญปัญหาอีกมากมายในอนาคต ดังนี้ ๑.ภัยแล้ง เดือนพ.ย. ๕๓ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการควบคุมภัยน้ำท่วมและบรรเทาภัยแล้ง เผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวสาลี ๒๔.๑๘๗๕ ล้านไร่ได้ประสบภาวะแล้งตลอดริมฝั่งแม่น้ำฮวงโหและHuaihe ส่งผลกระทบร้อยละ๑๙ ของพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ ๒.ความผันผวนราคาในตลาดโลก ปี ๒๕๕๒ จีนมีการนำเข้าถั่วเหลือง ๔๒.๖ ล้านตัน มากกว่าการผลิตในประเทศ ๓ เท่า หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการค้าถั่วเหลืองทั่วโลก ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้าถั่วเหลืองมากถึง ๔๘ ล้านตัน ทำให้ราคาถั่วเหลืองในประเทศต้องผูกติดกับตลาดโลกส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นๆในตลาดผันผวน ๓.ความไม่สมดุลย์ของอุปสงค์และอุปทานในประเทศจีน ในปีหนึ่งจีนบริโภคและใช้ธัญพืช ๕๒๕ ล้านตัน มีผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคเพียง ๒๑ ล้านตัน และปริมาณธัญพืช ๓๙๗ ล้านตันหรือคิดเป็นร้อยละ ๗๗ ของปริมาณทั้งหมดในประเทศ ผลิตในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญเพียง ๑๓ แห่ง ในทางกลับกันเมืองใหญ่สำคัญของจีนเช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง กวางตุ้ง มีการบริโภคธัญพืชมากกว่า ๙๗ ล้านตัน แต่สามารถผลิตธัญพืชได้เพียง ๓๓.๖ ล้านตันหรือร้อยละ ๖.๕ ของผลผลิตทั้งประเทศ ๔.ปัญหาระบบนิเวศน์ นายChen Xiwen หัวหน้าคณะทำงานชนบทส่วนกลางจีน (Central Rural Work Leading Group)กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะปัญหาเรื่องระบบนิเวศน์ที่กระทบต่อการผลิตธัญพืชในพื้นที่ตอนเหนือจีนซึ่งมักประสบภัยแล้งและถูกคุกคามจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและสังคมเมือง และในปีนี้อาจจะเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่เช่น Shanxi และ Anhui ส่งผลให้ข้าวสาลีมีผลผลิตลดลง ๕.มูลค่าทางเศรษฐกิจ นาย Lu Bu นักวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน เผยว่า ปัจจุบันมีตัวเลขการขนส่งธัญพืชจากภาคเหนือลงมาภาคใต้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถิติตัวเลขผลผลิตมณฑลชายฝั่งตอนใต้ที่ลดลงในหลายพื้นที่ สินค้าเกษตรขาดแคลนอาจจะไม่เกิดในปีหน้า แต่ราคาผันผวนจะเพิ่มความกังวลให้ประชาชนมากขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะมณฑลตอนใต้ซึ่งมีน้ำและที่ดินเกษตรสมบูรณ์ แต่ไม่มีใครคิดจะขยายพื้นที่เกษตรเนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าการเกษตรไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากเท่ากิจการอื่นๆ ปัจจุบันรัฐบาลกลางจีนได้เพิ่มแรงกดดันไปยังรัฐบาลท้องถิ่นให้ข้าราชการปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ในการรับประกันผลผลิตการเกษตรประเทศ ส่วนสถานการณ์ความมั่นคงพืชอาหารจีนในปี ๕๔ จะพัฒนาไปในทิศทางใดจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ