กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--สกธ.
ผอ.สกธ. ร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล 80 พรรษา หนุนขยายผล โครงการเยาวชนพลยุติธรรมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นสร้างสำนึกในความยุติธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตในกลุ่มเยาวชน เพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สกธ. ได้ริเริ่มโครงการเยาวชนพลยุติธรรมขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์เกี่ยวกับระบบการเรียนรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมของเยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจเรื่องความยุติธรรมอย่างถูกต้องตลอดจนสร้างจิตสำนึกที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น โดยมีเป้าหมายสำคัญในระยาว คือ การสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม จากการดำเนินงานในระยะที่ 1-3 ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ อุบลราชธานี ภูเก็ต และกรุงเทพฯ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นในปี พ.ศ.2550 นี้ สธก. จึงได้ขยายผลการดำเนินโครงการเยาวชนพลยุติธรรมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เป็น “โครงการเยาวชนพลยุติธรรม เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระชนมพรรษา 80 พรรษา” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา
ผู้อำนวยการ สกธ. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการทุจริตคอรัปชั่น,การใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง หรือการหลบเลี่ยงกฎหมายมีมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการเสื่อมถอยของศีลธรรม จริยธรรมของคนในสังคมนั่นเอง ฉะนั้นการปลูกฝังให้เยาวชนมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ มีวินัย เคารพกฎหมาย รวมทั้งมีจิตสำนึกสาธารณะ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ อีกทั้งยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินโครงการเยาวชนพลยุติธรรมที่ผ่านมาปรากฏผลชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ต่างมีความกระตือรือล้นในการนำความรู้ได้รับความรู้เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไปจัดกิจกรรม รวมทั้งผลิตสื่อรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ทั้งในโรงเรียน และชุมชนโดยรอบอย่างหลากหลาย อีกทั้งมีการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองอีกด้วย
“หัวใจสำคัญของโครงการเยาวชนพลยุติธรรมอยู่ที่การให้เด็กๆ ร่วมกันหาความรู้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำกิจกรรมที่จะทำให้เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกับเขารับรู้ เข้าใจ การที่เขาได้คิดเองจะทำให้เขาเห็นถึงคุณค่า และเกิดความหวงแหนความยุติธรรม และเกิดความรู้สึกว่าสังคมเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล เป็นสำนึกที่ติดตัวไปจนโต เพราะกฎหมายจะมีความยุติธรรมมากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่คนใช้กฎหมาย หากคนรู้กฎหมายแต่ไม่มีคุณธรรม ก็จะอาจจะใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น นำความรู้กฎหมายไปหลบเลี่ยงภาษี นำความรู้กฎหมายไปข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนโครงการเพาะเมล็ดพันธุ์ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรมลงไปในใจของเด็กๆ ถ้าหากทำได้จะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมถ้าหากทำได้จะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเป็นธรรม เป็นสังคมแห่งความสมานฉันท์ ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” นายวิศิษฏ์ กล่าวย้ำถึงผลที่คาดหวังจากการดำเนินโครงการ
สำหรับการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในปีนี้นั้น ผศ.ดร.ศิริพร แย้มนิล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวชี้แจ้งว่า ในปีนี้มีโรงเรียนจากภูมิภาคต่างๆ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการรวมทั้งสิ้น 140 แห่ง โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการได้ทำการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่มีรูปแบบการจัดกิจกรรมตรงตามเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 82 โรงเรียน จาก 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง 20 แห่ง ภาคเหนือ 15 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 18 แห่ง โดยแต่ละโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมโรงเรียนละ 5,000 บาท จากนั้นจะมีการนิเทศและติดตามผลการดำเนินกิจกรรมของแต่ละโรงเรียนเพื่อเยี่ยมชมผลงาน พร้อมกับการให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม นอกจากนี้แต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดจะต้องนำเสนอผลงานในเวทีระดับภาคเพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอผลงานในเวทีระดับประเทศในวันที่ 11 ธันวาคม 2550 เป็นครั้งสุดท้าย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักเรียนจากสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 100,000 คน
สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net