กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้า 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจภูมิภาค แนะ SMEs ปรับตัวสู้คู่แข่งอินเตอร์

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังนำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชม พร้อมติดตามความคืบหน้าสถานประกอบการนำร่องตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ณ โรงงานอบลำไย 2 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติเกยูร อ. จอมทอง และโรงงานอำไพพรรณการเกษตร อ. แม่วาง จ. เชียงใหม่ ว่า “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาคจะช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) และลดความสูญเสียในการผลิต เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาค ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปผลักดันผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมทุกจังหวัดให้มีความเข้มแข็งและเป็นโรงงานต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ให้กับโรงงานอื่นๆ โดยมีโรงงานจากทุกจังหวัดทั่วประเทศรวม 150 แห่งเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ยังจะใช้แนวทางดังกล่าวส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อให้แต่ละจังหวัดมีสินค้าเด่น หรือโปรดักแชมเปี้ยน (Product Champion) สู่ตลาดวงกว้างจนถึงตลาดโลกต่อไป”
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า “เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 80% ดังนั้นการเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ส่วนภูมิภาคให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ท่ามกลางปัจจัยลบในปัจจุบันนี้ จะช่วยรักษาเศรษฐกิจ การจ้างงานและการลงทุนในจังหวัดให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมีผู้เกี่ยวข้องในระบบมาก ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการและแรงงานเท่านั้น ยังรวมถึงพี่น้องเกษตรกรด้วย”
ด้านนายวีระ กีรติเกรียงไกร กรรมการผู้จัดการบริษัท อิงคะ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มทักษะและศักยภาพด้านการบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดความรู้เพื่อช่วยอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรให้อยู่รอดได้แบบยั่งยืน
ล่าสุด โครงการฯ ได้ตรวจเยี่ยมโรงงานอบลำไย 2 แห่งที่ จ.เชียงใหม่ พบว่ายังขาดความรู้ในด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบและโลจิสติกส์ที่ดี ส่วนในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้แนะนำการจัดการกระบวนการผลิต เพื่อลดความสูญเสียด้านระยะเวลาและวัตถุดิบ รวมทั้งการพัฒนาต้นทุนทรัพยากรและพลังงาน ซึ่งมีจุดรั่วไหลอยู่ ดังนั้นโครงการฯ จึงจำเป็นต้องเข้าไปยกระดับและให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ และแนะนำการปรับปรุงและฟื้นฟูเครื่องจักร รวมถึงส่งเสริมระบบการจัดส่งสินค้าและพัสดุด้วย
สำหรับ SMEs รายสาขาในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ต้องเฝ้าระวัง หรือปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพเป็นพิเศษมีจำนวน 5 สาขาคือ สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาอาหารจากธัญพืช สาขาเครื่องสันทนาการ สาขาอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และสาขาอาหารประเภทผักและผลไม้
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มณฑิรา นาควิเชียร 02-6633226 ต่อ 71

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ