กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัด“โครงการประชุมสัมมนาเพื่อใช้กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม” ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ มกราคม ๒๕๕๔ ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อทบทวนการดำเนินงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ปี ๒๕๕๔ และระดมความคิดในการจัดทำโครงการเชิงประเด็นในภาพรวมของประเทศเพื่อตอบสนองการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม โดยมีประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง รวม ๒๐๐ คน เข้าร่วมการประชุม
นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมาย โดยแบ่งเป็น กองทุนระบบปกติ ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมขององค์การสวัสดิการสังคม ที่จัดทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนเงินกองทุน และกองทุนในระบบการกระจายกองทุนไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจ เน้นการมีส่วนร่วม และการพึ่งตนเอง รวมทั้งเสริมความเข้มแข็งขององค์การสวัสดิการสังคม ให้สามารถคิดริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ในการตอบสนองการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศและของพื้นที่ โดยใช้กองทุนฯเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยในปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา มีองค์การได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมระบบกระจายทั้งสิ้น จำนวน ๑,๐๓๒ โครงการ จำนวนเงิน ๘๓.๖ ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ได้จัดสรรงบประมาณให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด ในวงเงิน ๑๐๕.๓ ล้านบาท
นายปิ่นชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม โดยกำหนดนโยบายให้สังคมไทยเป็นสังคมสวัสดิการและให้มีการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ภายในปี ๒๕๕๙ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์ ที่จะเร่งให้มีการประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ กว่า ๒๔ ล้านคน และการร่างพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันรายได้ในรูปเงินบำนาญในอนาคต เป็นต้น รวมทั้งการจัดกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งสนับสนุนให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม และเป็นกลไกสำคัญในการดูแลกลุ่มเป้าหมายและผู้ด้อยโอกาสในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ยังพบปัญหาที่ไม่สามารถผลักดันให้กองทุนฯ มีเงินทุนมากพอที่จะสามารถสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมได้ครบทุกพื้นที่ และในบางจังหวัดยังขาดการใช้กองทุนเป็นเครื่องมือในการระดมความร่วมมือและตอบโจทย์งานเชิงประเด็นในภาพรวมจังหวัดและพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล การจัดสัมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการทบทวนการดำเนินงานกองทุนฯในปี ๒๕๕๓ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม และกำหนดแนวทางการดำเนินงานกองทุนฯในปี ๒๕๕๔ ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในวงเงิน ๕ ล้านบาท รวมทั้งจะได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อสรรหาจังหวัดนำร่องจำนวน ๕ จังหวัด เพื่อจัดทำโครงการระดมทุนในจังหวัด
“การดำเนินงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมทั้งระบบปกติ และระบบการจายกองทุนฯ ไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและตอบสนองการจัดสวัสดิการสังคมในพื้นที่ ได้อย่างเหมาะสม ทั่วถึง โดยผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร ต้องเห็นความสำคัญและมีบทบาทช่วยผลักดันต่อไปในอนาคต”นายปิ่นชาย กล่าว.