กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ดัน ดู ดี
สมาคมพัฒนาผู้ค้าปลีกทุนไทย เผย ค้าปลีกปี 2554 เติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยบวกเอื้อำนวยทั้งราคาผลผลิตที่เพิ่มสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ สถานการณ์การเมือง มั่นใจเติบโตตัวเลขสองหลัก พร้อมชี้ปีนี้ประชาชนระดับกลางถึงล่างรายได้ฟู แนะผู้ประกอบการชิงกลยุทธ์ Segmentations Management รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ขณะที่มั่นใจตัวเลข GDP แตะ 4-5%
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมพัฒนาผู้ค้าปลีกทุนไทย หรือ สพท. กล่าวว่า ทิศทางค้าปลีกในปี 2554 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกลุ่มห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกซูปเปอร์มาร์เก็ตและคอนวีเนี่ยนสโตร์เติบโตเป็นตัวเลขหนึ่งหลักแต่สูงกว่าในปี 2553 โดยมีปัจจัยมาจาก ราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีการปรับราคาสูงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ของประชากรภาคการเกษตรสูงขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการ ทำให้ลูกจ้างภาครัฐและเอกชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มอำนาจการซื้อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และปัจจัยทางการเมืองที่ในปีมีบรรยากาศทางการเมืองเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และการที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้สะพัด รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกในปีนี้มีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับมูลค่าตลาดรวมค้าปลีกในปี 2553 ที่ผ่านมามีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็น โมเดิร์นเทรด (Mordent Trade ) 40% เทรดดิชั่นนอลเทรด (Traditional Trade) 60 % ซึ่งคาดว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนการเติบโตของธุรกจิค้าปลีกในปี2554 ขยับไปที่ โมเดิร์นเทรด (Mordent Trade ) 45% เทรดดิชั่นนอลเทรด (Traditional Trade) 55 % สำหรับปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกนั้น อาทิเช่น การที่พืชผลทางภาคการเกษตรที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นแม้รายได้ประชากรในแง่การบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันส่งผลให้ราคาสินค้ามีการขยับราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่ยังคงต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกต้องหากลยุทธ์ในการบริหารจัดการ และมีการแข่งขันกันเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิธิภาพสูงสุดทั้งต่อลูกค้าและองค์กร
“ปีนี้เชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการขยายตัวมากขึ้น เพราะปัจจัยทางด้านรายได้ของผู้บริโภคสูงขึ้น ซึ่งการลงทุนปีนี้การขยายสาขาของค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ เมืองท่องเที่ยว ชุมชนเมือง ซึ่งปีนี้จะเห็นการขยายสาขาของรูปแบบ Plaza ในแบบเนเบอร์ฮูดที่เจาะเข้ากลุ่มชุมชนมากขึ้น รวมถึงminimart หรือ mini supermarket มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป นิยมที่จะจับจ่ายใกล้บ้านมากขึ้น รวมไปทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโต่อเนื่องและต้องการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ของตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดการขยายตัวมากขึ้น” นายสุวิทย์กล่าว
นายกสมาคมฯ กล่าวเสริมอีกว่า จากสัญญาณที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจการเมืองในปีนี้นั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในทุกแคตตากอรรี่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันและสถานการณ์มากขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาปรับปรุงค้าปลีกให้สอดคล้องความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากขึ้นด้วย
ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2554 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ GDP มีการขยายตัวประมาณ 4-5% ซึ่งมีปัจจัยมาจากการบริโภคภายในประเทศซึ่งมาจากภาคการเกษตรที่พืชผลมีราคาสูงขึ้น รวมไปถึงในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกเกิดปัญหาทางภาวะภัยธรรมชาติ ทำให้ซัพพลายมีอัตราลดลงขณะที่ดีมานต์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมาจากปัจัยการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การไหลเข้าของเงินทุนทำให้ตลาดหุ้นดีขึ้น และการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในปีนี้ซึ่งจะทำให้เกิดเงินไหลหมุนเวียนในระบบมากกว่าภาวะปกติ
อย่างไรก็ตามสำหรับปัจจัยลบที่น่าห่วงในระบบเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น มาจากปัญหาเงินเฟ้อ ที่มาจาก 4 ตัวแปร ได้แก่ เงินเฟ้อจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าต้องปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อจากพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อจากการปรับค่าจ้าง และเงินเฟ้อจากการปรับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
“สิ่งที่เป็นตัวแปรของระบบเศรษฐกิจในปีนี้อีกเรื่องคือเรื่องของการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของตัวเลขการส่งออกปี 2553 เติบโต 30% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เนื่องมาจากผลการส่งออกปี 2552 ตัวเลขการส่งออกติดลบ 14% ซึ่งส่งผลให้ปีนี้อัตราการเติบโตของการส่งออกในปี 2554 ไม่เกิน 10% ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่เติบโตแต่ออาจไม่หวือหวาเท่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มาจากปัจจัยการส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มากขึ้น” รศ.ดร.สมภพ กล่าวและว่าจากภาวะเศรษฐกิจในปีนี้จะส่งผลให้ทุกธุรกิจมีการแข่งขันและปรับตัวกันมากขึ้น โดยหันมาใช้กลยุทธ์ Segmentations Management ซึ่งเป็นการหากลยุทธ์ทางการตลาดในการเจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งในปีนี้Segment ที่มีอัตราการเติบมากที่สุดคือระดับกลางถึงล่าง