กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--คต.
คต. จัดสัมมนา“The New EU-GSP Rules of Origin: Challenges and Opportunitiesfor Thai Exporters”ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค, กรุงเทพมหานคร
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดสัมมนา เรื่อง “The New EU-GSP Rules of Origin: Challenges and Opportunities for Thai Exporters” ในวันพุธที่ 26 มกราคม 2554 ณ ห้องควีนส์ปาร์ค 1 โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ได้ปรับปรุงใหม่ ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา
กฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ภายใต้ระบบ GSP ของสหภาพยุโรปนี้ มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับกระบวนการผลิตกว่ากฎฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาก และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการส่งออกของไทย กรมฯ จึงได้เชิญ Mr. Gert van ‘t Spijker และ Mr. Henk van Geelen ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (The National Team for Origin Affairs) จากศุลกากรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มาเป็นวิทยากรตลอดการสัมมนา เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้รับทราบและทำความเข้าใจต่อข้อกำหนดต่าง ๆ ในเรื่องกฏแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ อาทิ สินค้าในกลุ่มเดียวกันใช้กฎเดียวกัน (Sector-by-Sector) จากเดิมที่กำหนดเป็นกฎฯ เฉพาะรายสินค้า (Product-by-Product) และยังเปิดโอกาสให้ผู้รับสิทธิฯ สามารถเลือกใช้กฎตามความเหมาะสมกับกระบวนการผลิตได้ เช่น ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้หลักเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก (Change of tariff heading) หรือ 6 หลัก (Change of tariff sub-heading) แทนกฎการเพิ่มมูลค่า (Value-added) ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎการเปลี่ยนพิกัดฯ มีความเหมาะสมหรือทำได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบนำเข้าในการผลิตได้ในอัตราที่สูงขึ้นถึง ร้อยละ 70 เป็นต้น
รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Antonio Berenguer หัวหน้าฝ่ายการค้าและเศรษฐกิจ จากสำนักงานผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thai-EU Trade Relations” โดยจัดให้มีล่ามผู้ชำนาญการแปลเป็นภาษาไทยและอังกฤษตลอดการบรรยาย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนท่านละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
ผู้สนใจสมัครหรือสอบถามรายละเอียดการสัมมนาเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 02-5474817, 02-5475097